xs
xsm
sm
md
lg

กกต.สับ กมธ.รธน.เขียนแก้ ม.291 ไม่เคลียร์ มึนให้ศาลอุทธรณ์ตัดสินใบแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
“สดศรี” ติดใจ กมธ.วิฯ รธน.รีบจัด ไม่รอ กกต.แจงกลับตามมารยาท แต่ยันพร้อมทำตามมติ งงให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใบแดงเท่ากับให้ร้องคัดค้านที่ศาลโดยตรงหรือไม่ ชี้เสมือนทดลองตั้งศาลเลือกตั้ง สับ กมธ.เขียนยังไม่ชัดเจน มึนประชามติลดเหลือแค่ทำใน 60 วันจะขัดบทบัญญัติหรือไม่

วันนี้ (4 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวแสดงความคิดเห็นกรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมฯ มีมติให้ กกต.ใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มาใช้ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ภายใน 75 วันว่า กกต.ยอมรับมติของคณะกรรมาธิการฯ เพียงแต่ติดใจว่าเหตุใดจึงไม่รอให้ กกต.เป็นผู้เสนอ ทั้งที่ตามมารยาทแล้ว เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ถาม กกต.มาก็ควรจะรอให้ กกต.ดำเนินการชี้แจงกลับไปก่อน ซึ่ง กกต.ก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและนำเสนอ 2 แนวทาง คือ การออก พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยเฉพาะ กับการนำ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาใช้โดยอนุโลม เพราะการนำ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้โดยอนุโลมจะมีความยุ่งยากน้อยกว่าการนำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาใช้ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าและจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร อีกทั้ง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นมีความใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพราะเลือกจังหวัดละ 1 คน เหมือนกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยแนวทางที่คณะกรรมาธิการฯ เลือกก็เป็นแนวทางหนึ่งที่คณะทำงานของ กกต.ได้เสนอเข้ามาในที่ประชุม กกต. ทั้งนี้ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ มีมติไปแล้ว กกต.ก็พร้อมดำเนินการ

“กกต.จะได้มอบหมายให้สำนักงานฯ ไปศึกษารายละเอียดว่ามีการขัดกันของกฎหมายหรือมีข้อคิดเห็นประการใด แต่เบื้องต้นรู้สึกแปลกใจว่าแหตุใดในมาตรา 291/5 ที่ให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. โดยให้ใช้ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้โดยอนุโลม แล้วมาตราใดที่ไม่ใช้ก็ให้ กกต.ออกประกาศยกเว้นการบังคับใช้ โดยไม่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ซึ่ง กกต.ก็อาจท้วงติงไปยังคณะกรรมาธิการฯ” นางสดศรีกล่าว

นางสดศรีกล่าวต่อว่า ส่วนที่ให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้งนั้น คิดว่าไม่มีปัญหาเพียงแต่การวินิจฉัยขี้ขาดการตัดสิทธิการเลือกตั้ง ส.ส.ร. และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาภายใน 30 วัน ตนมีคำถามว่าหากมีการคัดค้านการเลือกตั้งจะให้ผู้คัดค้านร้องเรียนไปที่ศาลอุทธรณ์เลยหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น กกต.ก็ไม่ต้องดำเนินการทำสำนวนร้องคัดค้านเพียงแต่จัดการเลือกตั้งอย่างเดียว ลักษณะนี้ตนมองว่าจะเป็นการทดลองให้มีศาลเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ ตนตั้งข้อสังเกตว่า เวลา 30 วันที่ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาเรื่องร้องคัดค้านต่างๆ ได้ มีการสอบถามทางศาลอุทธรณ์หรือยังว่ามีความพร้อมในการดำเนินการภายใน 30 วันหรือไม่ และระยะเวลา 30 วันนั้นจะนับจากวันที่ได้รับการเลือกตั้งหรือวันที่มีการร้องคัดค้าน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ยังเขียนไม่ชัดเจน

นางสดศรียังกล่าวแสดงความเป็นห่วงเรื่องการทำประชามติว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 บัญญัติว่าให้ กกต.ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติภายใน 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน แต่ในมาตรา 291/13 วรรคสามของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต.ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติภายใน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วัน รวมทั้งบัญญัติว่า ให้นำ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติมาบังคับใช้โดยอนุโลม จะถือว่าบทบัญญัติขัดกันหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น