“ประพันธ์” รอความชัดเจนระเบียบจัดเลือกตั้ง ส.ส.ร.นอกเขตทำเหมือน ส.ส.หรือไม่ หวั่นกฎหมายไม่ชัด ทำเกิดปัญหาภายหลัง แต่เชื่อไม่น่าจะมีปัญหา ตั้งงบ 2,000 ล้าน โดย กมธ.วิฯ แก้ รธน.ดูคุณสมบัติรวมพวกติดโทษแบนสมัครได้หรือไม่
วันนี้ (1 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการเตรียมความในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า จากที่เห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 291 กำหนดให้ กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยให้ใช้ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตโดยอนุโลม เท่ากับว่า ได้ให้อำนาจ กกต.ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.แต่ทาง กกต.ยังต้องการความชัดเจนในเรื่องของการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เนื่องจากยังไม่มีการเขียนระบุไว้ชัดเจนว่า จะให้ใช้วิธีการแบบการเลือกตั้งส.ส.ด้วยหรือไม่ ซึ่งหากเรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจนแล้ว กกต.มาพิจารณาเองว่าดำเนินการหรือไม่ดำเนินการก็อาจเกิดปัญหาข้อโต้แย้งในภายหลังได้ แต่ถ้าจะให้จัดเลือกตั้ง ส.ส.ร.นอกเขตจังหวัด และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยอยู่ในเวลาที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนด อาจมีปัญหาเพราะการลงทะเบียนต้องใช้เวลาพอสมควร
นายประพันธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ เชื่อว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะไม่มีปัญหาและอุปสรรค เพราะมีวิธีการ และรูปแบบคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ส.โดยคาดว่า จะใช้หน่วยเลือกตั้งเท่ากับการเลือกตั้งส.ส.แต่อาจจะประหยัดในเรื่องของกรรมการประจำหน่วย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่จะลดจำนวนลงเหลือเท่ากับการออกเสียงประชามติ ประมาณ 7-9 คน อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการพิจารณากันอีกครั้งถึงความเหมาะสม เบื้องต้น กกต.ได้มีการจัดตั้งงบประมาณฉุกเฉินสำรองไว้ 900 ล้านบาท แต่คาดว่าจะใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.รวมทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท ส่วนที่กังวลว่าจะได้ร่างทรงของฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็น ส.ส.ร.มองว่า อยู่ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจะกำหนดคุณสมบัติ ส.ส.ร.อย่างไร เพราะ กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งในส่วนที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ กกต.ก็คงต้องรอให้การยกร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปสักระยะหนึ่งก่อน และในการแปรญัญัติ อาจมีการถามความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติมายัง กกต.
นายประพันธ์ ยังกล่าวถึงคนบ้านเลขที่ 111 จะสามารถลงสมัครเป็น ส.ส.ร.ได้หรือไม่ ว่า กรณีดังกล่าวนี้ อยู่ที่กรรมาธิการว่าจะยกร่างโดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่สมัคร ส.ส.ร.ไว้อย่างไร แต่ในการออกเสียงประชามติที่ผ่านมา ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสามารถออกเสียงประชามติได้ เนื่องจากมองว่าการออกเสียงประชามติไม่ใช่การเลือกตั้ง