ชทพ.เตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 สู้ พท.สัปดาห์หน้า หลังพบเนื้อหาในร่างของพรรคแกนนำรัฐบาลข้ามขั้นตอนรัฐสภา
นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ขณะนี้พรรคชาติไทยพัฒนา กำลังอยู่ระหว่างยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 291 ของพรรคเอง โดยเมื่อยกร่างเสร็จแล้วจะเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเข้าสู่ที่ประชุมพรรคในวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้ง จากนั้นจะเสนอญัตติเข้าสู่สภาในสัปดาห์หน้า ซึ่งร่างของพรรค ชทพ.จะมี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยมาร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติของพรรค ชทพ.ด้วย
ทั้งนี้ นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเคยมีส่วนสำคัญกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยที่ได้ยกร่าง และเสนอเข้าสภาได้ข้ามขั้นตอนของรัฐสภาไป เพราะร่างของพรรคเพื่อไทยบัญญัติว่าเมื่อมี ส.ส.ร. และได้ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำไปออกเสียงประชามติจากประชาชนทันที ซึ่งพรรคเพื่อไทยอาจเกรงว่าหากร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างเสร็จแล้วกลับเข้าสภาอีกก็กังวลว่าจะมีการเล่นแร่แปรธาตุในชั้นของสภาได้
นายวัชระ กล่าวว่า แต่สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรค ชทพ.นั้น นายชุมพล เคยบอกกับที่ประชุมพรรค ว่า เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ควรให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก่อน เพราะรัฐสภาเป็นองค์อำนาจตัวแทนของประชาชนที่ถูกต้องตามกฎหมายจะให้รัฐสภาอยู่เฉยๆ โดยข้ามขั้นตอนรัฐสภาไปจึงไม่น่าจะถูกต้องในหลักการ และหากที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องไปทำประชามติ แต่หากรัฐสภาไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.ก็ให้ทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าให้ความเห็นชอบและไม่เห็นชอบหรือไม่ เมื่อเห็นเสียงส่วนใหญ่ชอบก็ทูลเกล้าฯต่อไป
“นายชุมพล พูดกับพรรคไว้ชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรค ชทพ.จะบัญญัติว่า หากยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ให้รัฐสภาลงมติครั้งเดียวคือเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตามที่ ส.ส.ร.ได้เสนอมา โดยจะระบุชัดเจนว่าห้ามรัฐสภามีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างเสร็จเรียบร้อยจาก ส.ส.ร.แม้แต่ตัวอักษรเดียว หากรัฐสภาไม่เห็นชอบก็โยนไปที่การตัดสินของประชาชนอีกครั้ง”
นายวัชระ กล่าวว่า ส่วนตัวแทน ส.ส.ร.จะให้มีการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน 77 คน และมีผู้เชี่ยวชาญกำหนดให้มาจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีการให้ปริญญาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์แต่ละแห่งคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ 22 คน มาเป็น ส.ส.ร.ซึ่งจะทำให้บุคลากรในการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ตรงสาขาอาชีพที่สุด