xs
xsm
sm
md
lg

พูดคนละที ไปคนละทาง : เหตุสับสนทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ยิ่งใกล้วันที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอย่างจริงจัง หลังจากมีการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่แล้วนำเสนอต่อสภา และถึงแม้ว่าเวลานี้ยังไม่เห็นว่า ส.ส.ร.จะเกิดขึ้นด้วยวิธีใด และประกอบด้วยใครบ้าง มีคุณสมบัติน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน

แต่มีหลายคนจากพรรคเพื่อไทยได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการแต่งตั้ง ส.ส.ร.จึงเป็นเสมือนการชี้นำให้สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต้องการเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ว่าจะมีการแก้ไขประเด็นใดบ้าง หรือไม่ก็เป็นการโยนหินถามทางดูว่า ถ้าจะมีการแก้ประเด็นนั้นประเด็นนี้ สังคมโดยรวมจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยประการใด

และถ้าปรากฏว่ามีการคัดค้านในประเด็นใดมาก ทางพรรคเพื่อไทยก็จะถอย ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งปรากฏอยู่ในหมวด 2 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีเสียงคัดค้านมาก และทางพรรคเพื่อไทยโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันชัดเจนว่าจะไม่แตะต้องหมวดนี้ รวมไปถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย

แต่ถ้าดูจากเสียงคัดค้านซึ่งปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ก็เริ่มดังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้รัฐบาลจะถอยในการแก้หมวดที่เกี่ยวกับสถาบัน และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปแล้วก็ตาม นั่นก็หมายความว่ายังมีประเด็นอื่นที่อาจเป็นเหตุให้เกิดเสียงคัดค้านไม่น้อยไปกว่าการแก้ไขประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในหมวด 2 แห่งรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือแม้กระทั่งการเสนอกฎหมายปรองดองเพื่อลบล้างความผิดให้แก่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และเปิดทางให้กลับประเทศโดยไม่มีความผิดติดตัวนั่นเอง

ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายหรือการเสนอออกกฎหมายที่พรรคเพื่อไทยกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จึงถูกสังคมส่วนหนึ่งมองว่ามีวาระซ่อนเร้น และนี่เองคือเหตุให้สังคมเกิดข้อกังขาในเจตนาเกี่ยวกับด้านนิติบัญญัติของรัฐบาลชุดนี้

จริงอยู่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออกมาปฏิเสธเป็นระยะๆ ว่ามิได้แก้กฎหมายเพื่อช่วยคนคนเดียว แต่แก้เพื่อประชาชนโดยรวม แต่ดูเหมือนว่าคำปฏิเสธนี้จะไร้น้ำหนักในการทำให้สังคมเชื่อถือ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในการปราศรัยหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ชูนโยบายพาทักษิณกลับบ้านมาเป็นระยะๆ

ดังนั้นเมื่อได้เป็นรัฐบาล และมีการดำเนินการแก้กฎหมาย คนในสังคมส่วนหนึ่งจึงระแวงว่าจะเป็นการแก้เพื่อนิรโทษแก่ทักษิณเป็นด้านหลัก

ส่วนประเด็นการแก้เพื่อพรรคการเมืองในมาตรา 237 ที่ว่าด้วยการกระทำผิดของพรรคการเมือง และมีผลให้มีการยุบพรรคนั้น ถึงจะเป็นประเด็นสำคัญ แต่ก็เป็นรองการแก้เพื่อเปิดทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณกลับบ้าน

2. ถึงแม้นายกฯ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลจะออกมาปฏิเสธ แต่ก็จะถูกคำพูดของบรรดาลูกพรรคเพื่อไทยทำให้มีน้ำหนักอ่อนลงในระดับที่น่ากังขาว่า เป็นการพูดแบบปากว่านัยน์ตาขยิบหรือไม่ถ้าฟังจากคำพูดต่อไปนี้

2.1 ก่อนหน้านี้ไม่นาน หมอเหวง โตจิราการ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการแก้กฎหมายเพื่อให้ทักษิณกลับบ้าน และถ้าทักษิณกลับมาแล้ว พรรคเพื่อไทยจะรุ่งเรือง และพรรคประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์

2.2 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้บอกว่าจะมีการเสนอออกกฎหมายปรองดอง และทักษิณจะกลับประเทศไทยได้ในปลายปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ ได้บอกว่ากฎหมายปรองดองกับการนิรโทษกรรมให้อดีตนายกฯ ทักษิณเป็นเรื่องเดียวกัน

เพียงแค่บางตัวอย่างในการพูดเรื่องแก้กฎหมาย และเสนอออกกฎหมายอันเดียวกันมีคนพูดหลายคนและแต่ละคนพูดไปคนละทาง จึงทำให้คนฟังสับสน

อะไรคือเหตุจูงใจให้พรรคเพื่อไทยแก้กฎหมาย และเสนอออกกฎหมาย การกระทำเช่นนี้จะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการเมืองอันใดตามมา

เพื่อให้มองเห็นประเด็นแห่งปัญหาอันจะนำมาซึ่งความยุ่งยาก และวุ่นวายทางการเมืองเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี พ.ศ. 2551 ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูเหตุการณ์ในอดีตตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ก็จะพบว่าเหตุแห่งความขัดแย้งทางสังคมอันแท้จริงเกิดจากคนสองกลุ่ม คือ

1. กลุ่มต่อต้านการอยู่ในอำนาจของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันเป็นการเมืองนอกสภา และกลุ่ม ปชป.อันเป็นกลุ่มการเมืองในสภา ทั้งสองกลุ่มนี้นำแนวร่วมต่อต้านทักษิณในลักษณะศัตรูร่วม

2. กลุ่มสนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งมีกลุ่ม นปช.อันเป็นการเมืองนอกสภา และกลุ่มการเมืองในสภาซึ่งแตกแยกมาจากพรรคพลังประชาชน

คนทั้งสองกลุ่มนี้คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง ที่สำคัญ ถ้าการแก้กฎหมายหรือการออกกฎหมายในครั้งนี้มีคนสองกลุ่มนี้ออกมาเผชิญหน้ากันแบบเดิม เชื่อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จะต้องเกิดความวุ่นวาย และจะทำให้โอกาสได้กลับประเทศของอดีตนายกฯ ทักษิณมืดมน และคนที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ครั้งนี้มิใช่กลุ่มที่คัดค้าน แต่เป็นส่วนของการเมืองในฟากฝ่ายหนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่กำลังครองอำนาจอยู่ในขณะนี้นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ การออกมาโพนทะนาจะพาแม้วกลับบ้านของคนกลุ่มหนึ่งจึงเป็นเสมือนดาบสองคม คือ ถ้าอดีตนายกฯ ทักษิณได้กลับจริงก็อ้างเป็นผลงาน แต่ถ้าเผอิญไม่ได้กลับ ก็เข้าทางที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป และนี่เองน่าจะเป็นเหตุทำให้มีการพูดกันคนละที และไปคนละทาง เพื่อให้เกิดความวุ่นวายเข้าไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น