xs
xsm
sm
md
lg

คืบปมแก้ รธน. ศาลเคาะตัว 26 พยานวันนี้ ชี้งานเมีย “สมคิด” ไม่เกี่ยวข้องคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง ไม่ติดใจนำพยานสืบคดีแก้ รธน. แต่ยังไม่ขอถอนชื่อจากการเป็นบัญชีพยาน อ้างจะชี้แจงด้วยวาจาในวันไต่สวน ด้านศาล รธน.ชี้พยานปฏิเสธไม่กระทบความน่าเชื่อถือศาล รธน. ขณะที่กรณี “ฉัตรแก้ว” เมียสมคิด พบข้อมูลเป็นอดีตข้าราชการกรมที่ดินก่อนโอนมาศาล รธน.ยุคก่อตั้ง แถมขึ้นระดับ 9 ช้ากว่าเพื่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (3 ก.ค.) แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ทางสำนักงานฯ ได้รวบรวมเอกสารพยานที่ผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้ยื่นบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ และได้นำส่งให้แก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญศึกษาก่อนที่จะประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 4 ก.ค. ที่จะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องนำพยานปากใดเข้าไต่สวนในวันที่ 5-6 ก.ค.บ้าง โดยรายชื่อตามบัญชีพยานที่ทั้งสองฝ่ายยื่นต่อศาลมีทั้งสิ้น 26 ปาก ในจำนวนนี้ยังมีอีกหลายคนยังไม่ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำชี้แจงให้กับศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ สำหรับกรณีนายปริญญา ศิริสารการ และนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีรายงานว่า เป็นพยานของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้ร้องที่ 2 ส่วนนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อ.นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นพยานของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ผู้ร้องที่ 1 ที่อ้างในฐานะเคยเป็นอดีต ส.ส.ร.50 ซึ่งทั้งนายวิรัตน์และพล.อ.สมเจตน์ ได้แจ้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญออกหมายเรียกพยานโดยศาลฯ ก็ได้ดำเนินการให้และมอบให้แก่ทั้งสองไปแล้วเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการนำพยานมาไต่สวนต่อศาล

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากทีมกฎหมายของ พล.อ.สมเจตน์ ระบุว่า ในส่วนของนางกาญจนารัตน์นั้น พล.อ.สมเจตน์ไม่ติดใจที่จะนำสืบต่อศาลฯ โดยจะไปแถลงด้วยวาจาในวันไต่สวน แต่ก็ไม่ได้มีการยื่นแจ้งขอถอนชื่อออกจากบัญชีพยาน ต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนของนายสมคิดขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน โดยทราบว่าอยู่ระหว่างการพูดคุยของ พล.อ.สมเจตน์กับนายสมคิด ขณะที่ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้แจ้งว่าในส่วนการขอเพิ่มพยานของนายวิรัตน์ ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 5 ปากนั้น มีเพียงนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตอบรับและได้ยื่นบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ในกรณีของนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายจรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คตส. และนายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย เครือข่ายภาคประชาชน ทีมกฎหมายยังรอการประสานกลับมา หากถึงวันไต่สวนไม่ได้รับการตอบรับ นายวิรัตน์ก็จะแถลงต่อหน้าคณะตุลาการฯ ไม่ติดใจที่จะนำสืบ แต่หากศาลมีการขยายระยะเวลาการไต่สวนออกไป นายวิรัตน์ก็อาจจะขอให้มีการเรียกบุคคลเหล่าเข้าสืบอีก

ด้านแหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยว่า การที่พยานทั้งผู้ร้อง และผู้ถูกร้องทยอยออกมาปฏิเสธในการมาเป็นพยานคดีดังกล่าว แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีหนังสือเรียกพยานมอบผู้ร้องไปดำเนินการก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะพยานเหล่านี้ไม่ใช่พยานของศาลรัฐธรรมนูญ แต่น่าจะกระทบต่อผู้ร้องและผู้ถูกร้องเองมากกว่า เนื่องจากอาจทำให้หลักฐานการสู้คดีขาดน้ำหนัก

ขณะเดียวกัน จากกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรกรฯ ออกมาให้ข้อมูลว่านางฉัตรแก้ว เลิศไพฑูรย์ ภรรยาของนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการเลื่อนขั้นจากข้าราชการระดับ 8 เป็นระดับ 9 ในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีความเชื่อมโยงกับการที่นายสมคิดเข้าเป็นพยานของผู้ร้อง ทางสำนักงานฯ ก็ไม่ได้ออกมาแถลงชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่มีรายงานว่านางฉัตรแก้วเป็นข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งเมื่อปี 2541 โดยย้ายมาจากกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนั้นนางฉัตรแก้วเป็นข้าราชการในระดับ 6 เมื่อโอนย้ายมาก็ดำรงตำแหน่งระดับ 6 ในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็ได้เลื่อนขั้นมาลำดับชั้น จนกระทั่งมาอยู่ในระดับ 8 เมื่อต้นปี 2550 และดำรงตำแหน่งรักษาการ ผอ.สำนักที่เทียบเท่าระดับ 9 มาตั้งแต่ปี 53 ก่อนจะเข้ารับการประเมินเพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งระดับ 9 ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

“นางฉัตรแก้วผ่านการประเมินก่อนที่จะมีการรับคำร้องนี้ไว้วินิจฉัยด้วยซ้ำ กรณีกล่าวหาในทำนองว่าได้ขึ้นตำแหน่งเพราะนายสมคิด สามี จึงไม่น่าเกี่ยวข้องกัน อีกทั้งนางฉัตรแล้วมีความอาวุโสเพียงพอ โดยเพื่อนที่โอนย้ายมารุ่นเดียวกันต่างก็ขึ้นเป็นระดับ 9 ไปก่อนหน้านี้แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว และว่า สำหรับตำแหน่ง ผอ.สำนักประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นตำแหน่งใหม่ของนางฉัตรแก้ว หน้าที่หลักของสำนักนี้ก็คือการประสานงานกรณีมีงานพระราชพิธี ที่ตุลาการฯ และสำนักงานฯ ต้องเข้าไปร่วม และงานการประชุมของคณะตุลาการฯ โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มงานคดีแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น