“ยะใส” ชี้ “ทักษิณ” เข้าสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะละเมิดสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซ้ำยังเหยียดหยามระบบยุติธรรมไทยอย่างรุนแรง วานพันธมิตรฯ ในอเมริกาอย่าแค่ต้าน แต่ต้องยกระดับสู่สหประชาชาติ ส่วนพี่น้องพื้นที่อื่นอาจช่วยกดดันมะกันผ่านทางสังคมออนไลน์ พร้อมระบุเลื่อนตัดสินถอนประกันโจกแดงนานเกินปกติ เชื่อศาลหวั่นประเด็นการเมืองจนไม่เป็นตัวของตัวเอง
วันที่ 9 ส.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน และนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
นายคมสันกล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณได้เดินทางเข้าสหรัฐฯ ว่า ในแง่กฎหมาย ไทยกับสหรัฐฯ มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยเอื้อส่งผู้ร้ายให้ตลอด แต่จะว่าสหรัฐฯ หมดก็ไม่ได้ เพราะกระทรวงการต่างประเทศเราออกหนังสือเดินทางให้ ในเชิงข้อกฎหมาย สหรัฐฯ สามารถอ้างได้ว่ารัฐบาลไทยอนุญาต แต่ตนคิดว่าสหรัฐฯ ไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อนที่ไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณโดนคดีอะไร แล้วก็รู้ว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ สหรัฐฯ น่าจะชั่งน้ำหนักในหลายๆ เรื่อง ไม่ใช่มองแต่เรื่องผลประโยชน์ ไม่สนใจภาพพจน์ของประเทศไทย
ส่วนไทยเองก็มีปัญหา ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน มักจะทำตัวเป็นลูกไล่สหรัฐฯ มากกว่าจะเป็นมิตรที่เท่าเทียมกัน เรื่องนี้ต้องทบทวนบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ
นายสุริยะใสกล่าวว่า ต้องขอบคุณพันธมิตรฯ ที่สหรัฐฯ การไปรวมตัวต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่แค่ต่อต้านคนหนีคดี แต่ด้านหนึ่งเป็นการประจานสหรัฐฯ ว่าละเมิดข้อตกลง สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนและสนธิสัญญาช่วยเหลือกันทางอาญาอีกฉบับหนึ่ง กรณีวิคเตอร์ บูท และฮัมบาลี เราก็ส่งให้
ปรากฏการณ์พันธมิตรฯ ในครั้งนี้ได้บอกประชาคมโลกว่า เวลาอเมริกาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ปราบปรามคอร์รัปชัน ต้องดูว่าจริงใจแค่ไหนอย่างไร ตนอยากสื่อถึงพี่น้องที่สหรัฐฯ ว่า อย่าหยุดแค่ประท้วง พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ต้องยกระดับสู่สหประชาชาติ เพราะนี่คือการละเมิดสนธิสัญญา ละเมิดข้อตกลงที่มีมานาน นอกจากนั้นยังเหยียดหยามระบบยุติธรรมของไทยอย่างรุนแรง
สัปดาห์หน้ากลุ่มกรีนจะไปยื่น ป.ป.ช.สอบนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อัยการสูงสุด ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเมื่อทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณเข้าสหรัฐฯ อัยการสูงสุด รัฐบาล ต้องประสานข้อตัว แต่นี่กลับเพิกเฉย
แต่ประเด็นสำคัญ คือ ตนคิดว่าควรมีท่าทีจากศาลสถิตยุติธรรมบ้านเรา ตนนึกถึงที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ปกติจะมีเฉพาะกรณีต้องคัดตัวแทนมาเป็นกรรมการสรรหา แต่ครั้งนี้อยากเห็นเป็นการประชุมของผู้พิพากษาศาลฎีกาเพื่อปกป้องระบบยุติธรรมบ้านเรา เพราะอเมริกากำลังบอกว่าที่ศาลตัดสินจำคุกพ.ต.ท.ทักษิณ สองปีนั้นเขาไม่รับ เขาไม่เชื่อ การที่ตนพูดแบบนี้ไม่ใช่คลั่งชาติหรืออะไร แต่กำลังประจานคนที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้คุมกฎโลกและส่งออกประชาธิปไตย แต่สุดท้ายแค่เสาหลักปักขี้เลน
นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า ส่วนพี่น้องพันธมิตรฯคนอื่นที่อาจไม่สะดวกในการร่วมต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณเข้าอเมริกา อาจหาวิธีสื่อสารทางอื่น ทั้งผ่านทางเว็บไซต์สถานทูต เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือเขียนจดหมายอะไรก็แล้วแต่ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณคือนักโทษหนีคดีอาญา ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทางการเมือง อเมริกาต้องพูดให้ชัดว่าตีความสนธิสัญญาอย่างไร แต่นี่เขาเลือกที่จะเงียบ เพราะมันเป็นความผิดคาหนังคาเขา เราจะทำเรื่องนี้ให้เงียบไม่ได้ เพราะมันใหญ่มาก ตนมองว่าใหญ่กว่า พ.ต.ท.ทักษิณกลับเข้าไทยเสียอีก เพราะประเทศนี้ไร้ระบบแล้ว รัฐบาลเป็นของเขา แต่อเมริกาเป็นประเทศที่ออกแบบประชาธิปไตยส่งออกทั่วโลกแล้วเล่นแบบนี้เอง ตนว่ามันเละเทะ เหยียดหยามระบบยุติธรรมไทย
ส่วนกรณีศาลอาญาเลื่อนตัดสินถอนประกันแกนนำเสื้อแดง นายคมสันกล่าวว่า ตนนึกไว้อยู่แล้วว่าไม่ถอน เพราะเรื่องนี้มันมีมาก่อนเปิดสภาแล้ว แต่ศาลก็เลื่อนมาหลังเปิดสภา ทำให้เห็นอะไรลางๆ เพราะหลังสภาเปิดจะส่งผลให้บรรดาผู้ต้องหาหลายคนไม่สามารถดำเนินการไต่สวนได้ ก็ต้องรอสภาปิด แล้วถึงตอนนั้นก็อาจมีเงื่อนไขอื่นๆ เข้ามา ขณะเดียวกัน ปกติการไต่สวนถอนประกันใช้เวลาไม่นาน แต่นี่เลื่อนไปถึง 22 ส.ค. ขั้นตอนสั่งคดีมันมากผิดปกติ ทำให้เป็นเหตุให้สงสัยได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
นายสุริยะใสกล่าวว่า ตนไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมเลื่อนแล้วเลื่อนอีก แถมมีการแบ่งตัดสิน 19 คน วันที่ 22 ส.ค. ส่วนอีก 5 คน ไปวันที่ 29 พ.ย. มันแค่คำร้องถอนประกัน ไม่ต้องพิจารณานาน ตนไม่อยากจะบอกว่าศาลกำลังกังวลประเด็นทางการเมืองจนไม่เป็นตัวของตัวเอง อันนี้น่าเป็นห่วง เพราะทำให้เสื้อแดงยิ่งฮึกเหิม เชื่อว่าเพราะการเคลื่อนไหวของพวกเขา ทำให้ศาลยอมถอย