“คมสัน” มั่นใจพรุ่งนี้ศาลวินิจฉัยให้การแก้รัฐธรรมนูญเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ชี้พรรคชาติไทยพัฒนาอาจโดนยุบได้ จากเหตุ “ชุมพล” หลุดปากเป็นนอมินี ด้าน “บรรเจิด” มองต่าง เชื่อศาลไม่มีข้อเท็จจริงถึงขั้นตัดสินให้เป็นการล้มล้างการปกครอง คงอยู่แค่ในขั้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง
วันที่ 12 ก.ค. คณาจารย์กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ประกอบด้วย รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอ.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
นายคมสันกล่าวว่า การแก้มาตรา 291 ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญเป็นข้อตกลงระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชนในเชิงของการวางหลักการและวางระบอบการปกครอง จะวางให้เป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ได้ หมายความว่ารัฐธรรมนูญคือผู้สถาปนาระบอบการปกครอง เพราะฉะนั้นการเลิกรัฐธรรมนูญก็คือการล้มระบอบการปกครองนั่นเอง
สำหรับประเทศไทย อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน อย่างเช่นการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 50 เท่ากับว่าประชาชนวางหลักการในเชิงของการสถาปนารัฐธรรมนูญ โดยร่วมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะผู้แทนปวงชนอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นองค์กรรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรรับมอบจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกสถาปนาแล้วมีอำนาจเพียงแก้ไข จะเปลี่ยนเป็นอำนาจในการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ คงทำไม่ได้ เพราะหลักการมาตรา 291 ก็ไม่ไปถึงให้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ ทำแบบนี้ถือเป็นการเพิ่มอำนาจตัวเองไปสู่การสถานาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญ ในความเห็นตน เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองแน่นอน
นายคมสันกล่าวอีกว่า มีการอ้างว่าไม่แตะหมวด 2 แต่ที่ผ่านมามีข้อเสนอรัฐไทยใหม่ของกลุ่มต่างๆ อีกทั้งความจริงแล้ว หมวด 2 เป็นเรื่องสถานะของสถาบันประมุขของรัฐ แต่ไม่ได้พูดถึงการใช้อำนาจ ซึ่งเชื่อมโยงกับฝ่ายต่างๆ ตัวพระราชอำนาจที่แท้จริงไปอยู่กับหมวดอื่นต่างหาก
ส่วนจะยุบพรรคหรือไม่ แม้ไม่มีหลักฐานว่าพรรคมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ศาลอาจดูพฤติกรรมของบรรดาสมาชิกพรรคการเมือง ถ้าพรรคอื่นอาจดูข้อเท็จจริงได้ยาก แต่เผลอๆพรรคชาติไทยพัฒนาอาจโดนยุบ เพราะจากปากคำของนายชุมพล ศิลปอาชา ที่เผลอพูดว่าเป็นนอมินี
นายคมสันกล่าวว่า คำตัดสินศุกร์ 13 เป็นทางสองแพร่ง แพร่งที่หนึ่ง ถ้ายกคำร้อง ซึ่งตนว่าไม่น่าจะเกิด คำร้องของพันธมิตรฯ ก็จะจบไปด้วย แล้วรัฐบาลก็จะดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่ต้องการ แพร่งที่สอง ศาลตัดสินว่าผิด กลุ่มมวลชนเสื้อแดงก็จะไม่ยอม อาจเกิดการชุมนุม ปะทะกัน แต่ระบอบการปกครองยังอยู่ หรืออาจไม่เกิดเหตุรุนแรงเลยก็ได้
รศ.ดร.บรรเจิดกล่าวว่า ตนมองผลการตัดสินเป็น 2 ระดับ ระดับที่ 1 การแก้ไขนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ระดับที่ 2 คือ เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองหรือไม่ ตนคิดว่าที่แก้มานี้เข้าระดับที่หนึ่ง เพราะได้ไปฝังชิปไว้แล้วใน 291/13 คือว่าโยกอำนาจที่เป็นของศาลรัฐธรรมนูญ มาให้เป็นประธานรัฐสภา ซึ่งอยู่ภายใต้เจ้าของพรรค ฉะนั้น หลักประกันมันถูกโยกมาแล้ว โยกมาอยู่ภายใต้ระบบเสียงข้างมากเป็นคนตัดสิน การแก้ครั้งนี้จึงมีนัยยะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนระดับที่ 2 อันนี้ไม่แน่ใจว่าศาลได้ข้อเท็จจริงมาสนับสนุนถึงระดับล้มการปกครองหรือไม่
รศ.ดร.บรรเจิดกล่าวอีกว่า ศาลคงคำนึงว่าไม่อาจให้เสียงข้างมากมากำหนดทิศทางได้โดยลำพัง อันนี้ศาลต้องวางหลักแน่นอน ตนอยากถามฝ่ายที่ไม่พอใจว่า ความพอใจอยู่ตรงไหน เมื่อศาลอธิบายมีเหตุมีผลตามหลักกฎหมาย แล้วตัวเองไม่พอใจเอากำลังเข้าว่า มันจะยุ่ง