xs
xsm
sm
md
lg

"บรรเจิด" มั่นใจปฏิรูปประเทศไม่ยาก ปชช.หลายจังหวัดเริ่มเคลื่อนปกครองตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"คมสัน" ชี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "ตู่" พ้นส.ส. เป็นไปตามข้อกฎหมาย ถูกต้องทุกประการ แต่เจ้าตัวกลับสร้างวาทกรรมปลุกปั่นชาวบ้าน ระบุน่าจะดีใจด้วยซ้ำที่เคยได้เป็นส.ส.ไม่เช่นนั้นคงไม่ได้ออกจากคุก ด้าน "บรรเจิด" มั่นใจปฏิรูปประเทศไม่ยาก เพราะตอนนี้ประชาชนในหลายพื้นที่เริ่มเคลื่อนไหวปกครองตัวเอง เพื่อสลายการรวมศูนย์ ที่นึกถึงแต่ส่วนกลาง

วันที่ 18 พ.ค. คณาจารย์กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ประกอบด้วย รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอ.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

อ.คมสัน กล่าวว่า การที่ศาลวินิจให้ นายจตุพร พ้นส.ส. ศาลวินิจฉัยตามข้อกฎหมายทุกอย่าง ซึ่งถูกต้องทุกประการ แต่อาจไม่ถูกใจกองเชียร์ สิ่งหนึ่งที่เราจะป้องกันกระบวนการที่จะทำลายศาล ฝ่ายวิชาการเองต้องแสดงออกในเชิงวิพากษ์วิจารณ์และชี้นำให้เห็นความถูกต้องในการวินิจฉัยประเด็นต่างๆ เพราะเดี๋ยวนี้มีวาทกรรมพอตัวเองแพ้ก็บอกไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน คนก็ติดวาทกรรมเยอะ เพราะสภาพสังคมปัจจุบัน ประชาชนระดับล่างเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจริง พอใครพูดประเด็นที่ตรงใจก็สันนิษฐานไปต่อถึงสิ่งที่ได้ยินแค่นั้น โดยไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด

ฉะนั้นฝ่ายวิชาการเองก็มีหน้าที่สำคัญ โดยเฉพาะฝ่ายวิชาการด้านกฎหมาย มีหน้าที่สำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์ นำเสนอต่อสาธารณะว่าคำพิพากษาถูกต้องหรือไม่ สำคัญคือต้องอ่านคำพิพากษาก่อน เพราะปัจจุบันที่ติดกับวาทกรรมกันมากเพราะไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลชัดเจน แม้สื่อเองก็จับประเด็นไม่ติด ในแง่ของคุณภาพสื่อบางส่วนก็มีปัญหาเรื่องนี้ แล้วก็นำประเด็นคำพูดหวือหวาไปเป็นประเด็นข่าวมากกว่าเนื้อหาสาระสำคัญ

ถ้าติดตามเรื่องนี้ จะรู้ว่าไม่ใช่การกลั่นแกล้ง แต่ตัดสินตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายก็เป็นอย่างที่ศาลวินิจฉัย แต่ข้อมูลเบื้องต้นที่ไปสู่ประชาชน อย่างเอสเอ็มเอสข่าวเอง ยังสรุปผิดว่าโดนตัดสินพ้นส.ส.เพราะไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเมื่อ 3 ก.ค. ซึ่งจริงๆแล้วอันนั้นเป็นเหตุหนึ่งของการกล่าวอ้าง แต่ความเป็นจริงแล้วมันเป็นปัญหาเรื่องของการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การถูกจองจำในเรือนจำส่งผลให้พ้นสมาชิกพรรคการเมือง แล้วกลับมาสู่เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งว่า เมื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ครบกำหนดระยะเวลา ก็ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ นี่คือข้อเท็จจริง เพียงแต่ว่าสื่อเองยังจับประเด็นไม่ได้ สับสนในเรื่องนี้พอสมควร นายจตุพรเองจะอาศัยช่วงการสับสนของสื่อเอง ที่สำคัญคือการเขียนคำพิพากษาบางทีชาวบ้านอ่านไม่เข้าใจ ก็อาศัยช่องว่างตรงนี้ในการกล่าววาทกรรม

แล้วคำสัมภาษณ์ก็ไม่มีเหตุผล เอาแต่ความรู้สึกมาพูด ความจริงแล้วการที่ศาลพิพากษาอย่างนี้ หรือกระบวนการที่เกิดขึ้น ตั้งแต่กกต.รับสมัคร จนถึงปัจจุบัน ล้วนแต่ได้ประโยชน์กับนายจตุพรทั้งนั้น เพราะถ้าไม่มีกรณีกกต.ยอมรับนายจตุพรเข้ามาเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นายจตุพรจะไม่มีทางได้ออกจากเรือนจำเลย น่าจะดีใจด้วยซ้ำ ที่ได้ประโยชน์จากการกระทำทั้งหมด การฝากขังที่ได้ประกันออกมาซึ่งในอดีตไม่ให้ แต่เพราะการเป็นสส. ซึ่งถ้ากกต.ใช้ข้อกฎหมาย ทำหน้าที่ตรงไปตรงมาแล้วไม่ละเลยต่อหน้าที่ตัวเอง ปัจจุบันนายจตุพรก็ยังก็ไม่ได้ออกจากเรือนจำ

รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ประเด็นสถาบันตุลาการจะอยู่อย่างไร ระบบศาลของไทย ในภาพรวม เรายังได้รับการยอมรับสูง โดยมาตรฐานสากลแล้วอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ที่เป็นปัญหาคือระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ ศาลเป็นปลายทาง ส่วนต้นทางตำรวจนั้น อันนี้เป็นระบบใหญ่ ถ้าจะให้เป็นธรรมการปฏิรูปตำรวจสำคัญ การใช้ดุลยพินิจของอัยการ มันก็มีปัญหาตลอด

วันนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องคงอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป เพื่อถ่วงดุลเสียงข้างมาก

รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวอีกว่า กรณีข่มขู่ ตั๊ก บงกช ของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นปรากฎการณ์ว่าเราไม่สามารถอยู่ในภาวะแบบนี้ได้ ความเปลี่ยนแปลงอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่อาจต้องมีต้นทุนสูง ภาวะที่รวมศูนย์มาก ไทยมากกว่าเยอรมัน อย่างฮิตเลอร์ออกแค่รัฐบัญญัติ แต่ไทยถึงขนาดทำรัฐธรรมนูญตามความประสงค์ได้ ในทางวิชาการสะท้อนว่าจำเป็นที่เราไม่อาจจะปล่อยให้การรวมศูนย์ดำรงอยู่ได้ยาวนานต่อไป

การรวมศูนย์มาก ยาวนาน มันคือวิกฤตการเมืองไทย เราอย่าคิดว่าเรื่องนี้ยาก การเคลื่อนไหวพี่น้องประชาชนตามจังหวัดต่างๆมีมาก เพียงแต่ต้องปรับความคิดให้ถูก ให้ประชาชนเห็นถึงพิษภัยของการรวมศูนย์มาก ที่คิดถึงแต่คนส่วนกลาง ไม่สนคนในพื้นที่อื่น ซึ่งตอนนี้ก็เกิดแล้วในหลายจังหวัดที่ประชาชนลุกขึ้นปกครองตัวเอง นี่คือที่รัชกาลที่ 7 บอกว่าไม่อยากมอบอำนาจให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และนี่คือทิศทางของการปฏิรูป

กำลังโหลดความคิดเห็น