ถึงกับออกอาการลนลานทีเดียว สำหรับนักโทษหนีคดีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร เมื่อแผนการที่จะกลับบ้านอย่างเท่ๆ ทำท่าว่าจะล่มลงเสียแล้ว
หลังจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไว้วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมทั้งให้สภาชะลอการลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เอาไว้ก่อน
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติที่จะมีผลในการลบล้างความผิดให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ และจะได้รับเงินที่ถูกยึด 4.6 หมื่นล้านคืน ก็ถูกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประชาชนกลุ่มต่างๆ ออกมาชุมนุมคัดค้าน จนไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา และต้องเลื่อนวาระออกไปก่อน
อาการลนลานของนักโทษหนีคดีผู้นี้แสดงออกผ่านการวิดีโอลิงก์เข้าไปในงาน “ครึ่งทศวรรษ ความจริงวันนี้”ซึ่งคนเสื้อแดงจัดขึ้นที่อาคารธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา
แม้ พ.ต.ท.ทักษิณจะพยายามกลบเกลื่อนความผิดหวัง ปั้นสีหน้าผ่านกล้องวีดีโอว่าตนเองอารมณ์ดี แต่เนื้อหาที่พูดวันนั้น ได้แสดงความเกรี้ยวกราด ตีโพยตีพาย ตัดพ้อว่าตนเองยอมกลืนเลือดเพื่อจะปรองดองแล้ว เลือกผู้หญิง(น้องสาว) ซึ่งไม่ทะเลาะกับใคร มาเป็นนายกฯ แล้ว แต่ก็ยังมีขบวนการโค่นล้มเขาอยู่ โดยเฉพาะการใช้อำนาจข้ามสายของศาลรัฐธรรมนูญ
พ.ต.ท.ทักษิณได้กล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ดับเครื่องชนเขาทั้งในสภาและนอกสภา โดยยกเอาเหตุการณ์ที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก่อความวุ่นวาย เข้าไปกระชากเก้าอี้ประธานสภาฯ ระหว่างการประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะเลื่อนวาระร่าง พ.ร.บ.ปรองดองให้เป็นวาระเร่งด่วนหรือไม่ มากล่าวอ้าง
ที่สำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณได้หลุดคำพูดที่อยู่ในก้นบึ้งของหัวใจออกมา กรณีที่อ้างว่าตนเองร่ำรวยมาก่อนที่จะเข้ามาเล่นการเมือง แต่กลับถูกศาลพิพากษาให้ยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท
“วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศดับเครื่องชน พูดอยู่คำเดียว 46,000 ล้าน พี่น้องครับ ต้องไปถาม พล.ต.จำลอง (พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำ พันธมิตรฯ) ที่มายืนประท้วงผม วันที่มาเชิญไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พรรคพลังธรรม เมื่อปี2537 เมื่อ 18 ปีที่แล้ว วันนั้นผมประกาศมีทรัพย์สินอยู่ 46,000 ล้าน ผมมีตังค์ ค้าขายรวยมาก่อน ไม่ใช่เป็นคนที่ไปต้มใครมาก่อน แล้วมาเป็นนักการเมืองมีตังค์ เด็กรุ่นหลังคิดว่ามารวยตอนเข้าการเมือง ผมมาเข้าการเมืองมีแต่เงินหายไป เงิน 46,000 ล้านเป็นเงินที่ไม่ได้ปล้นใครมา แต่เขาปล้นผมไป ต้องการให้เข้าใจว่าเป็นเงินของผม ของครอบครัว ที่ถูกขโมยไป ปล้นไป ผมทำมาหากินมาก่อน”
คำพูดที่ออกอาการเอะอะโวยวายแบบนี้ ย่อมสะท้อนว่า เป้าหมายหนึ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ทำให้เขาไม่ยอมอยู่นิ่ง ก็คือการได้เงิน 4.6 หมื่นล้านบาทคืนนั่นเอง
พ.ต.ท.ทักษิณยังคงเป็น พ.ต.ท.ทักษิณคนเดิม ที่มีแต่ความเห็นแก่ได้ และพร้อมที่จะโกหก หรือพูดความจริงเสี้ยวเดียว ได้ทุกเมื่อ เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์
หากจะย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณเริ่มเข้ามาเล่นการเมืองในปี 2537 โดยมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโควตาของพรรคพลังธรรม ที่มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค จะพบว่า ในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมาย ป.ป.ช. ยังไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐมนตรีหรือนักการเมืองต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่พรรคพลังธรรมภายใต้การนำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่เน้นเรื่องความเสียสละและโปร่งใสในการทำงานการเมือง ได้กำหนดให้รัฐมนตรีของพรรคทุกคนต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
ปรากฏว่ารัฐมนตรีในสังกัดพรรคพลังธรรมที่มีทรัพย์สินมากที่สุด ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 55,000 ล้านบาท (ห้าหมื่นห้าพันล้านบาท) โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่อยู่ในรูปของหุ้น ซึ่งในขณะนั้นตลาดหุ้นไทยอยู่ในยุคฟองสบู่ ดัชนีขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,700-1,800 จุด (เทียบกับปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 1,100 จุด)
สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่าตนเองรวยมาก่อนที่จะเข้ามาเล่นการเมือง แต่กลับถูกยึดทรัพย์ไป 4.6 หมื่นล้าน ถ้ามองความจริงแค่นี้ ก็ไม่ผิด
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ หลังจากนั้นในปี 2540 เกิดวิกฤติการเงินจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ดัชนีตลาดหุ้นตกลงไปที่ระดับ 200 กว่าจุด ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.หลังจากพ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อปี 2540 เหลือเพียง 5,927 ล้านบาท ส่วนทรัพย์สินของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาในขณะนั้นอยู่ที่ 14,056 ล้านบาท และทรัพย์สินของลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 3 คน 3,895 ล้านบาท รวมแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวมีทรัพย์สินมูลค่า 23,878 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ว่า มีเงิน 509 ล้านบาท คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาในขณะนั้นมีทรัพย์สิน 9,958 ล้านบาท และทรัพย์สินของลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 2 คน 4,767 ล้านบาท รวมแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวมีทรัพย์สินมูลค่า 15,294 ล้านบาท
ในปี 2548 พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ว่า มีเงิน 506 ล้านบาท คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาในขณะนั้นมีทรัพย์สิน 8,800 ล้านบาท และทรัพย์สินของลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 1 คน 3,263 ล้านบาท รวมแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวมีทรัพย์สินมูลค่า 12,569 ล้านบาท
ส่วนในปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากถูกรัฐประหาร และได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ว่า มีเงิน 512 ล้านบาท คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาในขณะนั้นมีทรัพย์สิน 8,997 ล้านบาท และทรัพย์สินของลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 1 คน 3,246 ล้านบาท รวมแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวมีทรัพย์สินมูลค่า 12,755 ล้านบาท
ในปีต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.หลังจากพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 1 ปีว่า มีเงิน 557 ล้านบาท คุณหญิงพจมาน ชินวัตร มีทรัพย์สิน 8,721 ล้านบาท และทรัพย์สินของลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 1 คน 12,200 ล้านบาท รวมแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวมีทรัพย์สินมูลค่า 21,488 ล้านบาท
นั่นแสดงว่า ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 นั้น พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวมีทรัพย์สินที่หามาได้โดยสุจริตและกล้าเปิดเผยต่อสาธารณะเพียง 21,488 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนทรัพย์สินมูลค่า 4.6 หมื่นล้าน ที่ศาลฯ มีคำพิพากษาให้ยึดเป็นของแผ่นดินนั้น เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริต
หากย้อนไปดูคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวจะพบว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.)ได้ทำสำนวนให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินที่ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้เทมาเส็ก จำนวน 7.3 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินที่ได้มาจากการทุจริตกรณีอื่นๆ ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ศาลมีคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริงและใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ให้แก่ชินคอร์ฯ และบริษัทในเครือ ด้วยการออกนโยบาย 5 มาตรการ ได้แก่ กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต การแก้ไขสัญญาอัตราจัดเก็บภาษีมือถือระบบเติมเงินหรือพรีเพดให้กับบริษัท AIS การแก้ไขสัญญาเชื่อมต่อสัญญาณ หรือโรมมิ่งให้กับบริษัท AIS การยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ขึ้นไปเป็นดาวเทียมสำรองให้กับดาวเทียมไทยคม 3 และการปล่อยกู้รัฐบาลพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาทของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงค์ ซึ่งทั้ง 5 มาตราการ ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของชินคอร์ปฯ สูงขึ้น ก่อนที่จะขายหุ้นให้แก่กลุ่มเทมาเส็กจากสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม ศาลยังมีความปราณีให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเงินปันผลจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวยังมีเงินเหลืออยู่ 3 หมื่นล้านบาท
แต่เพราะความโลภ พ.ต.ท.ทักษิณจึงพยายามจะเอา 4.6 หมื่นล้านบาทคืนด้วย ด้วยการเดินเกมหลายทาง ทั้งการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ซึ่งจะทำให้ผลการกระทำของ คตส.ที่มีการรับรองไว้ในมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 หมดไป
รวมทั้งการออก พ.ร.บ.ปรองดอง ที่มีเนื้อหาหักดิบหลักนิติธรรม นิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย แต่คนที่จะได้ผลประโยชน์สูงสุดคือ พ.ต.ท.ทักษิณคนเดียว
อย่างไรก็ดี การที่ พ.ต.ท.ทักษิณอวดอ้างว่า เขามีเงิน 4.6 หมื่นล้านก่อนที่จะถูกยึด ทั้งที่ในบัญชีทรัพย์สินที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.มีเงินที่อยู่ในชื่อของเขาเพียง 500 กว่าล้านบาท ก็แสดงว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้แจ้งบัญชีเท็จต่อ ป.ป.ช.มาโดยตลอด นี่เป็นอีกความผิดหนึ่งที่รอมัดคออยู่ หากกลับเข้ามาในประเทศโดยที่ยังไม่ได้รับการนิรโทษกรรม และทำให้ความฝันของ พ.ต.ท.ทักษิณที่จะกลับประเทศอย่างเท่ๆ เลือนลางลงไปอีก