เปิดวิบากกรรมวงศ์ญาติตระกูลชินวัตร แม้ถูกศาลฟันผิดฐานเลี่ยงภาษี-ซื้อที่ดินรัชดา-ยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน ล่าสุดเชือด “ชินณิชา” อาจไม่ใช่คดีสุดท้าย ตัวเป้ง “นช.แม้ว” ยังต้องเผชิญวิบากกรรมอีกอย่างน้อย 4 คดี ด้านน้องสาวไม่น้อยหน้าแจ้งบัญชีเท็จคดีอยู่ในมือ ป.ป.ช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักข่าวอิศรา ได้จับประเด็นกรณีที่ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ (หลานสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา พร้อมกับจำคุก 2 เดือน ปรับอีก 4,000 บาท (แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงเห็นสมควรรอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี) โดยมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา
ตั้งเป็นประเด็นคดีดังกล่าวอาจไม่ใช่คดีสุดท้ายที่คนในวงศ์วานว่านเครือชินวัตรต้องเผชิญ เนื่องจากยังมีคดีที่เกี่ยวพันกับมารดาบังเกิดเกล้าของ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ จ่อคออยู่ในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีก 1 คดี
นั่นก็คือ กรณีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ (น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ) ถูกกล่าวหาปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและส่อร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งนายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นผู้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เมื่อปี 2549
คดีนี้นางเยาวภาถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของหมู่บ้านชินณิชาวิลล์ ย่านถนนแจ้งวัฒนะ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเบเวอร์รี่ฮิลล์) มูลค่า 250 ล้านบาท และนอกจากนี้ บุตรชายและบุตรสาว 3 คนถูกตรวจสอบพบว่าเป็นเจ้าของหุ้นมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี นายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนเคยเรียก น.ส.ชินณิชามาสอบข้อเท็จจริง เจ้าตัวรับว่าเป็นเจ้าของบ้านหรูร่วมกับพี่ชายช่วยกันซื้อไว้ เอาไปจำนองกับสถาบันการเงิน ช่วยกันผ่อนชำระ โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากนายสมชายและนางเยาวภา บิดาและมารดาแต่อย่างใด ส่วนกรณีถือครองหุ้นเกิดจากทำมาหากินตั้งแต่เรียนหนังสือ หุ้นในเครือเอ็มลิงค์จำนวนหลายร้อยล้านบาท แม่ยกให้และมีเงินปันผลปีละนับสิบล้านบาท ซึ่งล่าสุดคดีนี้ยังไม่มีความคืบหน้า
ก่อนหน้านี้มีคดีที่คนตระกูลชินวัตร ดามาพงศ์ และบริวาร รับวิบากกรรมไปแล้ว 3 คดี ได้แก่
1. คดีซื้อที่ดินรัชดาภิเษก อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน กรณีคุณหญิงพจมานประมูลซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ จึงไม่สามารถทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐได้ ซึ่งรวมถึงคู่สมรสได้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 2 ปี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551
2. คดีเลี่ยงภาษี 546 ล้านบาท อัยการสูงสุดเป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป คุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับในความผิดฐานร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้น บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จำนวน 546 ล้านบาท จากหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้น ซึ่งมีมูลค่า 738 ล้านบาท ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ให้จำคุกนายบรรณจน์ 2 ปี แต่ให้รอการลงอาญา 1 ปี ปรับ 100,000 บาท ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกนายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 1-2 คนละ 3 ปี และให้จำคุกนางกาญจนาภา เป็นเวลา 2 ปี
3. คดีร่ำรวยผิดปกติจากการขายหุ้นชินคอร์ป 7.6 หมื่นล้านบาท ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 46,373,687,454.70 บาท เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553
นอกจากนี้ มีคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องเผชิญอีกอย่างน้อย 4 คดี คือ
1. คดีหวยบนดิน (ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551
2. คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ (หมายจับศาลฎีกาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551
3. คดีแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต (หมายจับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.9/2551)
4. คดีก่อการร้าย คดีอาญาของศาลอาญา หมายจับเลขที่ 10862/2553
ในจำนวนคดีทั้งหมดที่ พ.ต.ท.ทักษิณเผชิญ มีคดีซุกหุ้นภาคแรกที่หลุดข้อกล่าวหาในศาลรัฐธรรมนูญแบบเฉียดฉิว 8 ต่อ 7 เสียง แต่คดีข้างต้นจะปรากฏผลตอนจบอย่างไร สาวกและคนชัง คงต้องลุ้นกันต่อไป