xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณนักโทษผู้ไม่ยอมรับผิดในไทย อยากให้วีระรับผิดในกัมพูชา

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555 นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ผู้หนีคดีอาญาแผ่นดินในคดีการยินยอมให้ภรรยาซื้อที่ดินรัชดาภิเษกจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 100 ได้ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีการพูดคุยกับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในการให้ความช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และนางสาวราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ สองคนไทยที่ถูกจับกุมในเรือนจำของกัมพูชาว่า:

“ได้คุยกันหลายรอบแล้ว แต่กติกาบอกว่าถ้าต้องขออภัยโทษต้องยอมรับผิด แต่นายวีระยังไม่ยอมรับว่าได้รุกล้ำเข้ามาในเขตแดน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ความจริงกัมพูชาเขาพร้อมจะทำเรื่องให้ จึงขึ้นอยู่กับตัวนายวีระ มีวิธีเดียวคือจะต้องขออภัยโทษ เพราะศาลตัดสินไปแล้ว แต่การจะขออภัยโทษหมายความว่าต้องยอมรับด้วยว่าทำผิดจริง”

ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะคนที่กำลังเจรจาให้ฮุน เซน ปล่อยตัวคนไทย ก็กลับกลายเป็นนักโทษหนีอาญาแผ่นดินของประเทศไทย

นายวีระ สมความคิด ไม่ยอมรับผิดเพื่อขออภัยโทษ ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่านายวีระ เห็นเรื่องอธิปไตยซึ่งเป็นประโยชน์ของชาติสำคัญมากไปกว่าอิสรภาพของตนเอง เพื่อเป็นการยืนยันว่าตัวเองนั้นถูกกัมพูชาจับกุมอยู่ในแผ่นดินไทย ซึ่งตรงกันข้ามกับนักโทษชายทักษิณที่เห็นเรื่องอิสรภาพของตนเองสำคัญกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ

นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ได้ให้สัมภาษณ์กรณีนายวีระและนางสาวราตรีว่า: “เพราะศาลตัดสินไปแล้ว แต่การขออภัยโทษหมายความว่าต้องยอมรับด้วยว่าทำผิดจริง”

แต่นักโทษชายทักษิณ กลับให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันนั้นถึงคำพิพากษาจำคุกตนเองว่า : “ผมไม่ได้ทำอะไรผิด ถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างยุติธรรม ใครก็รับได้ ไม่มีใครกลัวถ้าไม่ได้ทำผิด”

วันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร กลับมาประเทศไทยเพื่อสู้คดีความในคดีที่ดินรัชดาภิเษก ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นั้น ย่อมแสดงว่าเชื่อมั่นและเคารพในกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลแล้วใช่หรือไม่ ถ้าไม่เชื่อแล้วเหตุใดจึงได้กลับมา ซึ่งนักโทษชายทักษิณ ก็อาศัยอำนาจศาลในประเทศไทยในการฟ้องร้องคู่กรณีกับตัวเองทั่วไปหมดไม่ใช่หรอกหรือ?

8 มกราคม พ.ศ. 2551 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้แจกจ่าย “แถลงการณ์” โดยชี้แจงสาเหตุที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทย โดยในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวปรากฏข้อความบางตอนเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมดังนี้

“ผมขอเรียนยืนยันว่า คุณหญิงพจมานและผมพร้อมที่จะต่อสู้ทุกคดีและทุกข้อกล่าวหา เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของครอบครัว โดยผมและครอบครัวมีความเชื่อมั่นว่า จะได้รับความเป็นธรรมและความยุติธรรมจากสถาบันตุลาการ... ผมพร้อมเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์และต่อสู้คดีความตามกระบวนการยุติธรรม... ดังนั้นผมขอเรียนยืนยันต่อพี่น้องชาวไทย เมื่อได้เวลาอันสมควร ผมจะเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผมและครอบครัว ตามกระบวนการยุติธรรมอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างแน่นอน”

“ไม่มีใครกลัวถ้าไม่ได้ทำผิด” คือวาทกรรมของนักโทษชายทักษิณ ที่น่าจะตอบให้สังคมไทยเข้าใจว่า ถ้าไม่ได้กลัวเพราะทำผิด เหตุใดวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551 นายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายของครอบครัวชินวัตรที่ว่าความในคดีที่ดินรัชดาฯ จึงได้ไปวางถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาทที่สำนักงานศาลยุติธรรม แล้วต่อมาศาลได้พิพากษาจำคุกนายพิชิฏ 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญาฐานละเมิดอำนาจศาล แต่พรรคเพื่อไทยของนักโทษชายทักษิณกลับสนับสนุนคนพรรค์นี้ให้มาเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย แล้วจะให้เข้าใจว่า “ความยุติธรรม” ของทักษิณที่เพรียกหานั้นมันมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

เพียงแต่คนไทยส่วนใหญ่มักจะหลงลืมเรื่องในอดีตได้ง่าย จึงตกเป็นเหยื่อให้นักโทษชายทักษิณ และพวกเป่าหูให้เชื่อว่า

“ทักษิณคนดีผู้น่าสงสารถูกกลั่นแกล้ง และไม่ได้ทำผิดอะไรเลย”
หรือ “ทักษิณไม่ได้ทำผิดกกฎหมาย เพียงแค่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม”

หรือ “คตส.อยุติธรรมเพราะถูกตั้งมาโดยคณะรัฐประหาร ดังนั้นการตัดสินทั้งหมดจึงย่อมไม่ยุติธรรม”

หรือ “มีอำมาตย์อยู่เบื้องหลังสั่งศาลคอยแกล้งทักษิณอยู่”

ทั้งหมดคือวาทกรรมที่ผลิตขึ้นมาใน “ภายหลัง” จากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่พอใจคำตัดสินเท่านั้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่จะมีการพิพากษา พ.ต.ท.ทักษิณกลับแสดงความเชื่อมั่นต่อศาลยุติธรรม จนเกิดเหตุอัปยศที่มีทนายของทักษิณถูกจับได้ว่าวิ่งเต้นละเมิดอำนาจศาลด้วยเงิน 2 ล้านบาท จริงหรือไม่?

หลายคนอาจจำไม่ได้แล้วว่า คดีที่ดินรัชดาฯ ที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับกลายมาตกอยู่ในฐานะนักโทษหนีอาญาแผ่นดินเกือบ 4 ปีแล้ว เพราะคดีนี้คนที่ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในเวลานั้นก็คือ “นายวีระ สมความคิด”

ทั้งนี้ นายวีระ สมความคิด ได้รับเรื่องและข้อมูลต่อจากศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน โดยนางกัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้ และนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมกันเปิดโปงความจริงที่สังคมส่วนใหญ่ไม่ได้ทราบรายละเอียดในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ว่าคดีดังกล่าวเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันอย่างสุดสามานย์กันอย่างไร โดยเนื้อหาความบางตอนสรุปได้ดังนี้

เดิมเราใช้กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ประเมินราคาที่ดินในประเทศไทยเพื่อซื้อขายจำนองและเสียภาษี ต่อมาเปลี่ยนให้ย้ายการประเมินมาให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อมีการให้กรมธนารักษ์ที่ประเมินเพื่อภาษีเป็นหลัก ทำให้ราคาที่ดินทั่วประเทศตกต่ำลง ในขณะที่กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย และกรมบังคับคดี แห่งกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ประกาศใช้ในการซื้อขายและขายทอดตลาด ราคาย่อมตกต่ำไปด้วยตามกลไกดังกล่าว

ผู้ได้ประโยชน์สูงสุดคือคนที่ซื้อทรัพย์

ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด ปรากฏว่า มีเงินเย็นหลุดรอดมาได้หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หลังลอยค่าเงินบาท โดยเฉพาะพวกที่รู้ไส้เป็นการล่วงหน้าว่าจะมีการลอยค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540

และจากการสำรวจที่ดินกว่า 600 แปลง โดยศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชันพบว่า มีที่ดินรัชดาฯ ที่เกิดเหตุในคดีนี้เพียงแปลงเดียวเท่านั้นที่ราคาลดลงเหลือเพียงแค่ 25% ของราคาประเมินก่อนหน้า

สำหรับประชาชนโดยทั่วไป ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติเคยนำลูกหนี้เข้าพบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อเจรจาขอซื้อที่ดินและทรัพย์สินคืน แต่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินกลับแจ้งกับลูกหนี้กลับว่า ไม่สามารถขายทรัพย์สินราคาที่ดินไม่ได้เพราะกองทุนฯ เป็นหน่วยงานของรัฐจะขายขาดทุนไม่ได้เพราะถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ ดังนั้นจะต้องขายคืนลูกหนี้ในราคาที่ดินเต็มและบวกค่าในการบริหารซึ่งเป็นต้นทุนในการถือครองอีกปีละ 5%

แต่ที่ดินแปลงนี้กองทุนฟื้นฟูซื้อที่ดินแปลงนี้ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2538 มาด้วยราคา 1,908 ล้านบาท หากเข้าหลักเกณฑ์ของกองทุนฟื้นฟูที่จะต้องคิดการบริหารซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการถือครองปีละ 5% การขายที่ดินในวันดังกล่าวถึงปี 2546 จะมีมูลค่า 2,819 ล้านบาท ขายที่ดิน 772 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้นที่ดิน 33-0-81.8 ไร่ ที่มีการประมูลครั้งนี้เดิมมีที่ดินซึ่งไม่ติดถนนใหญ่และแบ่งเป็นที่ดินหลายแปลง แต่ในที่สุดกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ทำการรวมโฉนดที่ดินหลายแปลงให้เข้ามาด้วยกันเป็นผืนใหญ่ให้กับผู้ซื้อรายใหญ่เท่านั้น ผลการกระทำดังกล่าวทำให้ที่ดินดังกล่าวติดถนนใหญ่ และติดลำน้ำสาธารณะ และมีที่ดินขยายเพิ่มขึ้นในการประมูลคราวเดียวกัน ซึ่งต่างจากที่ดินในพื้นที่อื่นๆ

การประมูลที่ดินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน วางหลักค้ำประกันซอง 1 ล้านบาท มีการเปลี่ยนหลักประกันดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านบาท ทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลมิได้จำกัดรายในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเวลานั้นจึงมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงแค่ 3 ราย คือ

บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 730,000,000 บาท บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 750,000,000 บาท และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เสนอราคา 772,000,000 บาท ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุด

ดังนั้นถ้ารวมเงินจากพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น นางกัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้ สรุปความเสียหายได้ว่า

1. ถ้าขายตามหลักเกณฑ์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กองทุนจะเสียหายที่ดินแปลงนี้ถึง 2,045 ล้านบาท

2. ถ้าขายตามท้องตลาดตารางวาละ 9 หมื่นบาท ฉะนั้นถ้าขายตามราคาท้องตลาดกองทุนฟื้นฟูก็จะเสียหาย 504 ล้านบาท

3. ถ้าหากประเมินที่ดินเป็นที่ดินทั้งแปลงแบบติดถนน ไม่ใช่คิดที่ดินที่อยู่ด้านหลังซึ่งไม่ติดถนนรวมอยู่ด้วย ถ้าเป็นราคารวมตามโฉนดขายตารางวาละ 7 หมื่นบาท รายได้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะเรื่องรวมโฉนดหายไปประมาณ 220 ล้านบาท

4. ค่าธรรมเนียมของกรมที่ดิน ถ้าตีราคาตามหลักเกณฑ์ของกองทุนฟื้นฟู กรมที่ดินจะได้จากการโอนที่แปลงนี้ 40.9 ล้านบาท ถ้ากรมที่ดินขายตามราคาตลาด กรมที่ดินจะขาดรายได้ไปอีก 11 ล้านบาท

และที่ต้องจดจำเอาไว้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามีผู้เซ็นเอกสารให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา เป็นผู้ซื้อที่ดินนั้น คงทำเป็นลืมไปว่าคณะรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศให้วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ไม่เป็นวันหยุดราชการและเป็นวันทำการเพื่อให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตรดำนินเรื่องให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโอนที่ดินดังกล่าว อีกทั้งวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 ราคาประเมินที่ดินจะเปลี่ยนราคาบริเวณนั้นเป็นตารางวาระ 7 หมื่นบาท ผลคือทำให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ประหยัดค่าธรรมเนียมไปอีก 5,977,000 บาท เพียงเพราะเรามีวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ไม่เป็นวันหยุดราชการ

นอกจากนั้นคงต้องบันทึกเอาไว้อีกครั้งว่า ก่อนการประมูล สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้จัดให้ที่ดินดังกล่าวอยู่ในบัญชีที่ดินซึ่งควบคุมการก่อสร้างอาคารสูงในที่ดินย่านรัชดาภิเษกว่าห้ามสร้างตึกสูงเกิน 9 ชั้น แต่ภายหลังคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ซื้อที่ดินแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอนุญาตให้สร้างตึกสูงได้

การประมูลที่ดินรัชดาฯ 33-0-81.8 ไร่ เมื่อปี 2546 ได้เป็นโมฆะไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้มาประมูลใหม่ในปี 2554 ผลปรากฏว่า ผู้ที่ชนะประมูล คือ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ในราคา 1,815 ล้านบาท

ปี 2546 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ชนะประมูลที่ดินดังกล่าวในราคา 772 ล้านบาท ผ่านไปเพียงแค่ 7 ปี ที่ดินผืนเดียวกันประมูลใหม่เป็นราคา 1,815 ล้านบาท ซึ่งมีราคาต่างกันถึง 1,043 ล้านบาท หรือคิดคร่าวๆ ก็คือ มีราคาเพิ่มขึ้นถึง 135% ในช่วงเวลาผ่านไป 7 ปี

เทียบกันแล้วระหว่างผู้ที่ร้องกล่าวหาคดีนี้คือนายวีระ สมความคิด ผู้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ วันนี้กลับต้องไปติดอยู่ในเรือนจำที่กัมพูชา ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำผิดแต่เพราะต้องการพิสูจน์อธิปไตยของชาติ สมควรได้รับการชื่นชมยกย่องว่าการที่ไม่ได้รับการอภัยโทษเพราะไม่ยอมรับผิดและยอมติดอยู่ในเรือนจำยืนหยัดในอธิปไตยของไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นผู้เสียสละอย่างใหญ่หลวง

ตรงกันข้ามกับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งถูกนายวีระ สมความคิด ร้องเรียนกล่าวหา กลับไม่สำนึกผิด ไม่รับโทษ ไม่เคารพต่อศาลไทย เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ยังจะมีหน้ามาสนับสนุนชวนให้นายวีระ สมความคิด ยอมรับผิดเคารพคำตัดสินของศาลกัมพูชาเพื่อขออภัยโทษต่อกัมพูชานั้น มันไม่ทุเรศไปหน่อยหรือ?

ในความเป็นจริงแล้ว คำพูดของนักโทษชายทักษิณที่ว่า “มีวิธีเดียวคือจะต้องขออภัยโทษ เพราะศาลตัดสินไปแล้ว แต่การจะขออภัยโทษหมายความว่าต้องยอมรับด้วยว่าทำผิดจริง” นั้นเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้กับคนที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร มากที่สุด!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น