“กรณ์” โพสต์เฟซบุ๊กเย้ย “โต้ง” หากเป็นลูกผู้ชายจริงให้เสนอปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เชื่อ รมต.ไม่รับลูก เหตุไม่เข้าเงื่อนไขตาม กม. ด้าน “ธีระชัย” ยันผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไม่ผิด ชี้ค่าบาทแข็งเป็นเพราะรัฐบาลออกพันธบัตรกู้เงินมากไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 2 พ.ค. เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij ภายใต้หัวข้อ “คลัง-แบงก์ชาติ ใครกันแน่ที่สร้างปัญหา” ดังนี้
“ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมองไม่ตรงกับ รมว.คลังเป็นเหตุให้ถูกปลดได้หรือไม่ ตอบง่ายๆ เลยครับว่า 'ไม่ได้' และทางกฎหมายประเด็นนี้ชัดเจนมาก กฎหมายฉบับนี้มีความชัดเจนอีกต่างหากว่ากรณีใดที่อาจจะมีการปลดผู้ว่าฯ ได้ และใครเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการสั่งปลด ดังนี้ครับ
หมวด ๕ มาตรา ๒๘/๑๙
(๔) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรี เพราะมีความ ประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่
(๕) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง
ดังนั้น ที่คุณกิตติรัตน์พูดวันนี้ว่าเป็นหน้าที่คณะกรรมการแบงก์ชาตินั้นไม่จริง อย่างเก่งคณะกรรมการก็แค่ 'แนะนำ' ให้รัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อให้ ครม.เท่านั้น
และโดยเฉพาะในกรณีนี้ ถามว่าใครเป็นคนพูดต่อหน้าผม และต่อหน้าสาธารณชนว่า คิดอยู่ตลอดว่าอยากจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ คนคิดและคนพูดก็คือคุณกิตติรัตน์นั้นเอง ไม่ใช่คณะกรรมการแบงค์ชาติ ไม่ใช่ ดร.โกร่ง
ถ้าคุณกิตติรัตน์เป็นลูกผู้ชาย ก็ใช้อำนาจตามวงเล็บ ๔ เบื้องบน เสนอ ครม.ให้ปลดเลยสิครับ แล้วเราจะได้เห็นว่ามีรัฐมนตรีคนไหนกล้าเสี่ยงเอากับคุณกิตติรัตน์บ้าง ผมว่าคง 'วิ่งไปเข้าห้องนํ้า' กันเกือบทั้ง ครม. เพราะไม่มีใครเห็นว่าท่านผู้ว่าฯ มีพฤติกรรม 'เสื่อมเสีย' หรือ 'ทุจริตต่อหน้าที่' แต่อย่างใด
ส่วนคนที่ทำให้ 'เสื่อมเสีย' ในกรณีนี้กลับไม่รู้สึกตัว ระดับรัฐมนตรีถ้ายังไม่คิดว่ามีมูลเหตุเพียงพอที่จะปลดใครก็ไม่ควรพูด ส่วนเมื่อพูดแล้วกลับโยนสิ่งที่เป็นหน้าที่ตัวเองให้คนอื่นทำแทนนั้น ผมให้ท่านผู้อ่านบรรยายเองแล้วกันว่าควรเรียกว่าอะไร”
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala ในประเด็นเดียวกันนี้ว่า “มีผู้สื่อข่าวสอบถามผมว่ารัฐมนตรีคลังมีอำนาจในการปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติหรือไม่นั้น
พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 28/19 กำหนดการพ้นตำแหน่งโดยการดำเนินการของรัฐมนตรีคลังไว้สองข้อ
(4) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรีเพราะมีความ
ประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่
(5) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรีหรือการเสนอของ
รัฐมนตรีโดยคําแนะนําของคณะกรรมการธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง
ตอบว่ามีอำนาจครับ แต่ต้องแสดงเหตุผลอย่างชัดแจ้ง
ขณะนี้รัฐมนตรีคลังขัดแย้งกับผู้ว่าฯ ในงานนโยบาย จึงไม่เข้าลักษณะที่จะใช้ (4) ได้ เพราะไม่มีการประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนการใช้ (5) นั้น รัฐมนตรีทำได้โดยตนเอง แต่ต้องพิสูจน์ว่ามีการบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ
สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้เป็น KPI สำหรับผู้ว่านั้น มีเฉพาะเป้าหมายเงินเฟ้อ ที่แบงก์ชาติต้องตกลงกับกระทรวงคลังทุกปี และขณะนี้ยังไม่เกินเป้า จึงยังไม่สามารถใช้เรื่องเงินเฟ้อในการอ้างเหตุ
สิ่งที่รัฐมนตรีพูด แต่กฎหมายมิได้กำหนดไว้ คือผลขาดทุนของ ธปท. แต่ถ้าจะอ้างเรื่องนี้ ก็จะมีปัญหาว่าขาดทุนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้ว่าคนนี้อยู่ในตำแหน่งนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการซื้อดอลลาร์ที่เกิดขึ้นในอดีต ก่อนหน้าที่ผู้ว่าคนนี้เข้าไปรับตำแหน่ง ดังนั้น จะเหมาให้ผู้ว่าคนนี้รับผิดคนเดียว คงไม่ได้
สิ่งที่พูดอีกเรื่องหนึ่ง คือ การที่เงินบาทแข็งและกระทบส่งออก แต่ถ้าจะอ้างเรื่องนี้ ก็จะมีปัญหาว่าผู้ว่าเขาไม่ได้เป็นคนทำให้เงินบาทแข็ง เงินบาทมันแข็งเอง ในอดีตแบงก์ชาติเคยเข้าไปแทรกแซงด้วยการซื้อดอลลาร์เพื่อชะลอการแข็งค่า แต่ประธาน ธปท. เขาไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้แบงก์ชาติขาดทุน ผู้ว่าเขาจึงไม่ได้เข้าไปแทรกแซงหนักมือเหมือนดังในอดีต
ที่จริงเมื่อเช้านี้ คุณสมชาย สกุลสุรรัตน์ ได้กรุณาชี้ให้ผมเห็นประเด็นว่า สาเหตุหนึ่งที่บาทแข็ง เนื่องจากรัฐบาลออกพันธบัตรกู้เงินมากเกินไป เปิดช่องให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตร ดังนั้น รัฐบาลเป็นคนทำให้เงินบาทแข็ง ไม่ใช่แบงก์ชาติ
สิ่งที่พูดอีกเรื่องหนึ่ง คือ การดื้อไม่ลดดอกเบี้ย แต่เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าฯ แต่เป็นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ผู้ว่าเป็นเพียงกรรมการคนหนึ่ง ถ้าจะปลดก็ต้องปลดกรรมการทั้งชุดเสียโน่น
สรุปแล้วผมเห็นยังไม่เห็นว่าการดำเนินการของผู้ว่าในเรื่องต่างๆ นั้น จะมีเรื่องใดที่จะเข้าลักษณะของกฎหมายที่จะปลดผู้ว่าฯ โดยชอบธรรมได้เลย”