ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “กรณ์” โพสต์เฟซบุ๊กเตือนรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” อย่าลุแก่อำนาจ ปลดผู้ว่าฯ ธปท.เหตุเพราะสั่งไม่ได้ ลั่นหากเป็นจริงจะเสียหาย และเป็นเรื่องแน่
หลังจากมีกระแสข่าวฝ่ายการเมืองพยายามปลด นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากความขัดแย้งที่ไม่ตอบสนองความต้องการของรัฐบาลในการแก้ไขปํญหาค่าเงินบาทแข็งค่า
เช้าวันนี้ (3 พ.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ใช้ชื่อว่า Korn Chatikavanij โดยมีเนื้อหาด้วยหัวข้อว่า “อย่าลุอำนาจ” ดังนี้
“เมื่อประมาณ 4-5 เดือนก่อน ผมได้พบกับรองผู้ว่าฯ แบงก์ชาติท่านหนึ่งในงานศพ ผมได้บอกท่านว่า ผมมั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะต้องกล่าวหาแบงก์ชาติต่อเนื่อง และช่องทางที่เขาจะใช้ก็คือ การโจมตีเรื่องการ “ขาดทุน” จากการถือดอลลาร์ที่ได้มาจากการขายเงินบาทเพื่อบริหารไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป
ผมกำชับไปด้วยว่า แบงก์ชาติต้องลงมาจากหอคอยงาช้าง และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าการ “ขาดทุน” นั้น ข้อเท็จจริงเป็นเช่นใด เพราะรัฐบาลนี้เขาเก่งที่จะเอาความจริงมาครึ่งเดียว และขยายผลเพื่อโจมตีฝั่งตรงข้าม และเมื่อวานนี้เราเห็นภาพชัดแล้วว่าที่ผม และหลายคนคาดการไว้เป็นจริงทั้งหมด รวมถึงการยกตัวเลข “ขาดทุน 1 ล้านล้าน” ขึ้นมาด้วยเป้าหมายที่จะทำลายความน่าเชื่อถือในตัวผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ
ผมได้อ่านบทความที่อดีตรัฐมนตรีคลัง คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้เขียนในเฟซบุ๊กของท่านเมื่อวานนี้ ท่านได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่มีตรรกะที่น่าคิดอยู่หลายข้อ เช่น การขาดทุนในบัญชีที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการที่เงินดอลลาร์ในมืออ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาท แต่ข้อเท็จจริงคือ เงินดอลลาร์ของเราเป็นเงินสำรองที่สะสมมาตั้งแต่หลังวิกฤตปี 2540 โดยหลายผู้ว่าฯ จะมาโทษผู้ว่าฯ คนปัจจุบันทั้งหมดได้อย่างไร
และนอกจากนั้น การแทรกแซงในตลาดเงินก็เป็นหน้าที่โดยตรงของแบงก์ชาติ เพื่อรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเลี่ยน เพื่อภาคธุรกิจจะได้ค้าขายได้ ถ้าแบงก์ชาติไม่ทำอะไรเลย เอกชน และประเทศชาติอาจจะเสียหายมากกว่านี้
มีนักวิชาการอีกท่านหนึ่งคือ ดร.วีรไท สันติประภพ ได้เขียนบทความในเรื่องนี้ไว้ว่า เราควรเปรียบเทียบว่าการขาดทุนของแบงกืชาตินั้นเมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินปัจจุบัน มีค่าเท่ากับเพียงประมาณ 0.5% ของงบโดยรวมในแต่ละปีเท่านั้น หรือเท่ากับโครงการรถคันแรก แต่ผู้ได้ประโยชน์อาจจะมากกว่าเยอะ
นอกจากนั้น ในประเด็นว่าแบงก์ชาติควรลดดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่ ดร.วีรไท ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวได้ปรับขึ้น แม้ตอนที่แบงก์ชาติได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ความหมายก็คือ การลดดอกเบี้ยไม่ได้มีผลแต่อย่างใด และส่วนหนึ่ง คุณธีระชัย เองก็ได้ชี้ให้เห็นว่า อาจเป็นเพราะรัฐบาลเองกู้เยอะ จึงทำให้มีพันธบัตรรองรับความต้องการของทุนต่างชาติมากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยประเทศอื่นในเอเชียส่วนใหญ่ก็สูงกว่าของไทยอีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ที่เงินบาทแข็งนั้นเป็นเพราะดอกเบี้ยเราสูงจริงหรือ
ที่ผมอยากจะเสริมก็คือ การลดดอกเบี้ยในช่วงที่รัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปในเศรษฐกิจเต็มที่อย่างปัจจุบัน เป็นเรื่องที่อันตรายมาก โดยเฉพาะเมื่อการว่างงานเราตํ่ามาก และทั้งหุ้นทั้งอสังหาฯ เริ่มส่งสัญญาณที่ทำให้ต้องระมัดระวังเรื่องการก่อตัวฟองสบู่
การดูแลค่าเงินประเทศอย่างเรามีข้อจำกัดค่อนข้างมาก แต่ผมมองว่าผู้ที่ทำได้มากที่สุดในเวลานี้คือ กระทรวงคลัง ไม่ใช่แบงก์ชาติ ผมเคยเขียนไว้แล้วว่า นักเก็งกำไรวันนี้เขาไม่ได้กลัวการปรับลดดอกเบี้ย แต่เขากลัวมาตรการ “การสกัดทุน” (capital controls) มากกว่า และเครื่องมือทางภาษีอยู่ที่คลังหมด ผมเองก็เคยใช้มาแล้วในช่วงปี 2553 โดยก็ได้ปรึกษาแนวทางร่วมกันกับท่านผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน (จำได้ว่านั่งคุยกันอยู่ที่ล็อบบี้โรงแรมแห่งหนึ่งที่กรุงวอชิงตัน ก่อนเข้าประชุมธนาคารโลก) ครั้งนั้นก็เรียบร้อย และมีผลสำเร็จเป็นอย่างดี
ดังนั้น กระทรวงคลังไม่ควรออกมากล่าวโทษแบงก์ชาติอย่างนี้ และ ดร.วีรไท ได้แนะนำด้วยว่า รัฐบาลเองก็ต้องทบทวนมาตรการต่างๆ ที่หวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจจนเกินไป เพราะทั้งหมดมีผลต่อการดึงดูดเงินทุนต่างประเทศทั้งสิ้น
ตอนนี้ศึกนี้ดูเหมือนกลายเป็นเรื่องทิฐิไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในการบริหารในระดับประเทศ ทุกฝ่ายต้องลดอัตตา และหันมาร่วมมือกันด้วยเหตุผลและความจริงใจครับ
ถ้ารัฐบาลยังดื้อดึงจะปลดผู้ว่าฯ เพียงเพราะ “สั่งไม่ได้” ผมยืนยันว่าเสียหาย และเป็นเรื่องแน่นอนครับ