xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละ “ลด ดบ.นโยบาย” ได้ไม่คุ้มเสีย ชี้ชัด “บอนด์ระยะยาว” ต้นตอปัญหา คนที่เคยเจ็บตัวเมื่อปี 40 คงเข้าใจดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วิรไท สันติประภพ” ชำแหละแนวทางลด ดบ. แก้ปัญหาค่าเงินบาทได้จริงหรือ พร้อมระบุปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ คือ เงินทุนไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมีบอนด์ระยะยาวของภาครัฐเป็นกลไกสำคัญ ชี้ชัดการลด ดบ.นโยบาย ไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพหยุดเงินไหลเข้า หวั่นผลที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะกระทบโครงสร้างตลาดเงิน แถมยังกระตุ้นเงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้น จุดชนวนฟองสบู่รอบใหม่ หากใครที่เคยเจ็บตัวเมื่อปี 40 คงเข้าใจดี

นายวิรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์ โพสต์ในเฟซบุ๊ก ในประเด็นเรื่องแนวทางการจัดการเงินทุนไหลเข้า โดยคัดค้านการใช้นโยบายลดดอกเบี้ย พร้อมเสนอ 5 แนวทาง มีรายละเอียดดังนี้

เรื่องนโยบายเศรษฐกิจที่ “hot” ที่สุดเวลานี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการจัดการเงินทุนไหลเข้า และค่าเงินบาท หลายคนสงสัยว่าทำไมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยหยุดเงินทุนไหลเข้าได้จริงหรือ และถ้า กนง. ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทางการควรมีมาตรการบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้าอย่างไร

ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะหยุดเงินทุนไหลเข้า อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมากคือ สำหรับเงินกู้เพียงหนึ่งวันเท่านั้น แต่ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในวันนี้ คือ เงินทุนไหลเข้ามาในตราสารหนี้ ซึ่งมีพันธบัตร (ระยะยาว) ของภาครัฐเป็นกลไกสำคัญ

ถ้าคณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้หมายความว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวจะลดลงด้วย โดยเฉพาะถ้าตลาดเห็นว่า รัฐบาลยังมีแผนที่จะออกพันธบัตรมากู้เงินอีกจำนวนมาก หรือถ้าตลาดเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถูกแทรกแซงไม่สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างอิสระ ส่งผลให้เงินเฟ้อในอนาคตมีโอกาสสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวก็จะปรับเพิ่มขึ้นได้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลง

แต่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เพราะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ระบบธนาคารพาณิชย์นำไปใช้ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ วันนี้หนึ้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นเร็วมาก ฐานการออมของประเทศลดลง และเชื่อได้ว่ามีฟองสบู่เกิดขึ้นในสินทรัพย์หลายประเภท ถ้าปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำไปนานๆ จะทำให้ฟองสบู่ในอนาคตขยายขึ้นจนควบคุมได้ยาก ดังนั้น ใครที่เคยเจ็บตัวเมื่อปี 2540 คงจะเข้าใจดี

รัฐบาลส่วนใหญ่มองแค่สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงไม่ค่อยสนใจเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร

นอกจากนี้ หลายคนคงไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในวันนี้ค่อนข้างต่ำด้วยซ้ำไปเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในทวีปอื่นๆ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าเรามาก แต่เงินก็ไม่ได้ไหลเข้าประเทศเหล่านี้มากเหมือนกับที่เราเผชิญอยู่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่ต้นเหตุหลักของเงินทุนไหลเข้านะครับ

อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือ “ด้านราคาที่มีผลเหวี่ยงแหในระดับมหภาค” ทั้งในวันนี้และวันหน้า ถ้าจะจัดการปัญหาเรื่องเงินทุนไหลเข้า และค่าเงินบาทแข็งแล้วควรใช้มาตรการที่ “เฉพาะเจาะจง” ถึงต้นเหตุของเงินทุนไหลเข้ามากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะมาตราการเกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ภาครัฐ แต่รัฐบาลทุกประเทศมักไม่ชอบมาตรการเหล่านี้ เพราะอาจจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลสูงขึ้น แผนการกู้เงินจะทำได้ไม่สะดวกเหมือนอย่างที่อยากให้เป็น

ผมคิดว่ามีแนวทางอย่างน้อย 5 เรื่องที่ควรได้รับการพิจารณาเพื่อจัดการเงินทุนไหลเข้าและปัญหาค่าเงินบาท โดยไม่สร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต

1.การเร่งแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐบาลเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากชาวต่างประเทศที่ถือพันธบัตรรัฐบาลไทยได้ (ทำให้เท่าเทียมกับคนไทยที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยพันธบัตร) เรามีมติ ครม. เรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่กระทรวงการคลังไม่ขับเคลื่อนให้มีการแก้ประมวลรัษฎากรให้เกิดผลในทางปฏิบัติ แม้ว่าเมื่อแก้ประมวลรัษฎากรแล้ว นักลงทุนจากบางประเทศจะไปขอคืนภาษีได้เพราะมีสนธิสัญญาภาษีซ้อนกับไทย

แต่การหักภาษี ณ ที่จ่าย จะเป็นการสร้าง friction ให้เงินทุนที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตร และสร้างภาระให้นักลงทุนต่างประเทศต้องไปดำเนินการขอคืนภาษีเอง วิธีการนี้เป็น capital control ที่โปร่งใส ชัดเจน และเป็นธรรมที่สุด ไม่สร้างผลเสียด้านความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศในระยะยาวเหมือนกับ capital control บางประเภทซึ่งทางการควรหยิบยกมาพิจารณาด้วยเช่นกัน เช่น การกำหนดระยะเวลาการถือครองพันธบัตรขั้นต่ำของนักลงทุนต่างประเทศ การเก็บภาษีเงินลงทุนในพันธบัตร

2.ทบทวนวิธีการกู้เงินของรัฐบาล ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งเพราะรัฐบาลออกพันธบัตร inflation linked bond จำนวนมากที่ได้รับความสนใจสูงจากนักลงทุนต่างประเทศ การออกพันธบัตรที่มีเป้าหมายเป็นนักลงทุนต่างประเทศในเวลานี้จำเป็นหรือไม่ รัฐบาลควรจะหันมาพัฒนาตลาดพันธบัตร saving bonds สำหรับขายให้ผู้ฝากเงินในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะจะช่วยลดการพึ่งพิงนักลงทุนต่างประเทศ เพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ฝากเงินในประเทศ และช่วยสร้างความเข้มแข็งของฐานเงินออมภาคประชาชนอีกด้วย

3.ทบทวนกรอบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเป็นช่องทางเงินทุนไหลเข้าที่สำคัญมากเช่นกัน ตัวเลขการขอสิทธิประโยชน์บีโอไอสูงเป็นประวัติการณ์ จำเป็นหรือไม่ที่เรายังต้องให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดิมอีก อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในวันนี้ลดลงมาจาก 30% เหลือ 20% แล้ว และเรายังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย ผมเชื่อว่ามีการลงทุนหลายประเภทที่เราเคยส่งเสริมในอดีต แต่ไม่ต้องการในปัจจุบัน

4.ทบทวนนโยบาย และเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างจริงจัง วันนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนถึงเกือบสองในสามของสินเชื่อครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ และยังแข่งขันกันปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ในสภาวะที่เรากังวลเรื่องฟองสบู่ สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้มาตรการป้องกันฟองสบู่ผ่านนโยบาย prudential measures ไม่ได้ผล เราควรควบคุมนโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างไร

5.ประเด็นสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด การออกนโยบาย หรือมาตรการใดๆ เพื่อแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้า และค่าเงินบาท จะต้องได้รับการยอมรับจากตลาดว่าเป็นมาตรการที่น่าเชื่อถือ หรือมี credibility สูง หมายความว่าจะต้องเป็นมาตรการที่ทั้งรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นตรงกัน และรับผิดชอบร่วมกันอย่างหนักแน่น แต่เรายังเห็นความขัดแย้งทางความคิด และพฤติกรรมที่มุ่งแต่ประเด็นเรื่องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่พยายามจะทำมาตรการเฉพาะเจาะจงร่วมกันแบบเป็น package

และที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือ เริ่มมีความพยายามจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจเป็นนโยบายกีฬาสีเหลืองสีแดง ถ้าวิธีการบริหารเศรษฐกิจยังเป็นแบบที่จะเอาชนะกัน ไม่มีทางที่มาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะเกิดผล เพราะจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากตลาด

มาตรการทางเศรษฐกิจทุกอย่างมีต้นทุน ต้องแน่ใจว่าเมื่อออกมาแล้วมีประสิทธิภาพ ถ้าสามารถออกมาตรการที่เฉพาะเจาะจงได้ จะลดผลเสียข้างเคียงได้ดีกว่ามาตรการมหภาคแบบเหวี่ยงแห (เช่นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย)

ก่อนที่การตัดสินใจนโยบายเศรษฐกิจจะกลายเป็นนโยบายกีฬาสี ผมอยากเห็นนักเศรษฐศาสตร์ และผู้รู้ทั้งหลายช่วยกันคิด และชี้นำสังคมว่าเราควรจะออกมาตรการที่เฉพาะเจาะจงเพื่อบริหารเงินทุนไหลเข้า และแก้ปัญหาค่าเงินบาทได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น