xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” ชี้ความเสียหายจากบาทแข็งเทียบเท่าวิกฤตปี 40 สมควรปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คลัง” โยนบาป “ธปท.” ชี้ความเสียหายจากบาทแข็งค่ารอบนี้ เทียบเท่าวิกฤตค่าเงินปี 40 สะเทือนฐานะประเทศ ไม่สามารถพิมพ์แบงก์เพิ่มได้เพราะเงินเฟ้อสูง พร้อมย้ำถือเป็นความบกพร่องของ “ธปท.” และเป็นเหตุผลเพียงพอในการปลด “ผู้ว่าการ” พ้นตำแหน่ง

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจประเมินมุมมองด้านการคลังที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่เงินบาทปรับค่าแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ มีอยู่ 2 ด้าน ด้านแรก คือ การขาดทุนในงบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคาดว่า จะแตะระดับ 6 แสนล้านบาท จากผลขาดทุนจำนวน 5 แสนล้านบาทเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการขาดทุนด้านอัตราแลกเปลี่ยน และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ซึ่งความเสียหายดังกล่าวจะนำไปสู่ภาระการคลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายพงษ์ภาณุ ยืนยันว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้ความน่าเชื่อในแบงก์ชาติลดลง ถ้าเป็นบริษัทเอกชนก็ถือว่าเจ๊งไปแล้ว ซึ่งมีไม่กี่แห่งในโลกที่ขาดทุนมาก มีเพียงเม็กซิโกและชิลีเท่านั้น และผลขาดทุนนี้ก็ไม่สามารถที่จะกลับมาเป็นบวกได้อย่างรวดเร็ว เพราะเงินต่างประเทศยังคงไหลเข้ามาต่อเนื่องจากนโยบายเพิ่มปริมาณเงินจากสหรัฐฯ กลุ่มยูโร และญี่ปุ่น โดยกรณีของญี่ปุ่นนี้อาจใช้เวลานานถึง 2 ปี ในการเพิ่มปริมาณเงิน หากแบงก์ชาติไม่ดำเนินการอะไร เชื่อว่าเงินบาทจะแข็งค่าไปแตะระดับ 26-27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแน่นอน และจะทำให้ผลขาดทุนแบงก์ชาติเรื้อรัง และมีจำนวนมาก

นายพงษ์ภาณุ กล่าวเสริมว่า ทางออกของปัญหา คือ กระทรวงการคลังก็ต้องเข้าไปเพิ่มทุน ซึ่งเงินเพิ่มทุนก็จะต้องมาจากภาษีประชาชน เราก็ไม่พร้อม ทั้งนี้ หนี้ของ ธปท.ที่หมุนเวียนในตลาดจากการออกพันธบัตรมีถึง 3.1 ล้านล้านบาท จากจำนวนพันธบัตรทั้งหมด 8 ล้านล้านบาท มากกว่าพันธบัตรกระทรวงการคลังที่มีอยู่จำนวน 3 ล้านล้านบาท ฉะนั้น กระทรวงการคลังก็ไม่สามารถรับผิดชอบได้ หรือแบงก์ชาติจะเป็นผู้รับผิดชอบ ด้วยการพิมพ์เงินออกมาชำระหนี้ก็ไม่สามารถทำได้เพราะจะเกิดเงินเฟ้อ ฉะนั้น เมื่อปัญหาใหญ่ขนาดนี้ ในที่สุดจะเป็นภาระทางการคลังแน่นอน

ส่วนผลกระทบด้านที่สอง คือ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ 1.ภาคการส่งออก ซึ่งจะเห็นได้ว่า ขณะนี้การส่งออกเริ่มติดลบ แม้เดือนมีนาคมจะเป็นบวกนิดหน่อย แต่หากเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อน ตัวเลขการส่งออกควรจะเป็นบวกมากกว่านี้ ขณะที่เงินบาทเริ่มแข็งค่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี ทั้งนี้ หากดูในเชิงองค์ประกอบของการส่งออก จะพบว่า ภาคการส่งออกที่มีส่วนประกอบที่มาจาก Local Content จะพังพินาศ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร เพราะแข่งขันไม่ได้ แต่อุตสาหกรรมที่นำเข้าสินค้าจากประเทศจะยังอยู่ได้

2.ผลกระทบต่อภาคการลงทุน หากดอกเบี้ยนโยบายยังยืนในระดับสูงจะกระทบต่อการลงทุนในภาพรวมอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลมีแผนจะลงทุนถึง 2 ล้านล้านบาท ถ้าดอกเบี้ยเหมาะสมจะสามารถเดินหน้าได้ แต่หากดอกเบี้ยอยู่ในระดับนี้ รัฐบาลไม่สามารถกู้ในประเทศในอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งจะต้องทดแทนดอกเบี้ยพันธบัตรแบงก์ชาติ ฉะนั้น อาจมีปัญหาในแง่การระดมเงินทุนของรัฐบาลได้ นอกจากนี้ การแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของภาคเอกชนก็เริ่มรุนแรง อาจทำให้การระดมเงินทุนของภาคเอกชนประสบปัญหาเช่นกัน

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยสูง พันธบัตรแบงก์ชาติท่วมตลาด การที่จะเอาตลาดพันธบัตรรัฐบาลมาแทนไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้น อาจจะมีปัญหาได้ ถ้าไม่มีการบริหารจัดการตลาดตราสารหนี้ได้

3.ผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อในตลาดสินทรัพย์ ซึ่งเกิดจากการที่เงินทุนไหลเข้า ขณะนี้ เริ่มเข้าไปในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ เป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด 4.ผลกระทบต่อตลาดทุน ขณะนี้ปริมาณพันธบัตรแบงก์ชาติคงค้างมีจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีพันธบัตรแบงก์ชาติมากกว่าพันธบัตรกระทรวงการคลัง เป็นการบิดเบือนตลาดทุนมหาศาล บิดเบือนแม้แต่โครงสร้างดอกเบี้ยในตลาดทุน ซึ่งขณะนี้ ดอกเบี้ยระยะสั้นได้ปรับตัวใกล้เคียงกับระยะยาว เพราะแบงก์ชาติได้เข้าไปลงทุนพันธบัตรระยะสั้นจำนวนมาก

นายพงษ์ภาณุ กล่าวยืนยันว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นใน 2 ด้านดังกล่าว ถือว่าเป็นความเสียหายที่เทียบเท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งถือเป็นความบกพร่องของแบงก์ชาติที่จับต้องได้ หากแบงก์ชาติไม่ดำเนินการอะไร อาจถึงขั้นที่ทำให้ประเทศเข้าสู่วิกฤตหายนะ และจะต้องถือเป็นความรับผิดชอบของแบงก์ชาติด้วย ทั้งนี้ กฎหมายแบงก์ชาติข้อหนึ่งระบุชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติออกจากตำแหน่งโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือการนำเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยคำแนะนำของคณะกรรมการแบงก์ชาติ เหตุผลเพราะบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดยมติของคณะรัฐมนตรีต้องมีความชัดเจน

นอกจากนี้ หากมองในแง่การดำเนินนโยบายของกระทรวงการคลังในการเข้ามาดูแลเศรษฐกิจนั้น ขณะนี้ถือว่าได้เดินมาถูกทาง โดยเศรษฐกิจได้ตอบสนองนโยบายการคลังได้ดี ส่วนมาตรการที่จะเข้าไปช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทนั้น ถือว่ากระทรวงการคลังได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในส่วนที่แปลงหนี้เงินกู้ต่างประเทศเป็นเงินบาท สำหรับมาตรการที่หลายฝ่ายเห็นว่าควรที่จะใช้มาตรการทางด้านภาษีเข้าไปดูแลการลงทุนในตลาดตราสารหนี้นั้น เราเห็นว่าเป็นมาตรการที่รุนแรงเกินไป และขณะนี้การลงทุนในตลาดพันธบัตรระยะสั้น และระยะยาวก็มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติลงทุนในตลาดพันธบัตรมีอยู่ประมาณ 15% ถือว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่ลงทุนประมาณ 11-12% โดยครึ่งหนึ่งของการลงทุนของต่างชาตินั้น ได้ลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นของแบงก์ชาติอายุ 3 ปี อีกครึ่งหนึ่งลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 5 ปี แต่การลงทุนระยะยาวหรือสั้นก็ไม่แตกต่างกัน เพราะนักลงทุนสามารถขายในตลาดรอง และขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของ 2 ตลาดไม่แตกต่างกัน ฉะนั้น การใช้มาตรการภาษีมาคุมพันธบัตรระยะยาวจึงไม่จำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น