xs
xsm
sm
md
lg

เงินบาทแข็งค่าจากเงินทุนไหลเข้า และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สโรกาญจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th

ประเด็นเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท จากกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กำลังเป็นประเด็นที่นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ค่ะ หลังจากที่ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่ต่างก็ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จนส่งผลทำให้ต้องนำมาตรการต่างๆ ออกมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตนให้กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น การคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ หรือการใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น อันจะนำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่องทางอื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวตามไปด้วยนั่นเองค่ะ

ทั้งนี้ มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในแต่ละประเทศมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ มาตรการดังกล่าวถูกเรียกว่า Quantitative Easing : QE หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ โดยการดำเนินมาตรการในลักษณะนี้พร้อมๆ กันในหลายๆ ประเทศทั่วโลกมีผลทำให้เม็ดเงินในระบบการเงินของโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ในท้ายที่สุดแล้วก็จะมุ่งไปสู่แหล่งที่ให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าดึงดูดใจที่สุด

โดยปัจจุบันประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นแหล่งที่มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าสู่ทั้งในส่วนของตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากกระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่องนี้ด้วยเช่นกันค่ะ โดยเงินลงทุนดังกล่าวนอกจากจะได้รับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงกว่าการลงทุนในประเทศของตนเองแล้ว ยังจะได้รับกำไรที่เกิดจากการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย

โดยค่าเงินบาทของไทย (เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ) ปรับตัวแข็งค่าไปแล้วกว่า 2.7% เมื่อเทียบกับในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้หลายๆ ฝ่ายเกิดความกังวลว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาเพื่อรองรับกระแสเงินลงทุนไหลเข้าดังกล่าว จะมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าจนถึงระดับที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย และมีผลต่อเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่

แนวทางที่หลายๆ ฝ่ายเริ่มมองเห็นว่าอาจจะสามารถนำมาใช้เพื่อควบคุมการไหลเข้าของเม็ดเงินในขณะนี้คือ “การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” และเริ่มกลายเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องนำไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบถัดไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ว่าจะมีการตัดสินใจด้านนโยบายอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กำลังถูกยกนำมาถกเถียงกันในขณะนี้ ต่างฝ่ายต่างมีความคิดเห็นในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป โดยที่ฝ่ายหนึ่งมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะสามารถสกัดเงินทุนไหลเข้า และหากไม่ลดดอกเบี้ยเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นไปอีกจนอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่าหากลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว อาจจะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ (ทั้งจากภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้ภาคครัวเรือน และหุ้น) และจะเป็นตัวเร่งให้เงินเฟ้อภายในประเทศขยายตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงได้

ทั้งนี้ เหตุผลของการที่หลายฝ่ายมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะช่วยลดการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ เนื่องจากมองว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยภายในประเทศ-ต่างประเทศจะมีความแตกต่างกันน้อยลง และจะมีความน่าดึงดูดใจน้อยลง แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องไม่ลืมว่า ถึงแม้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25-0.5% ตามที่ ธปท.เคยปรับลดมา ก็อาจไม่สามารถต้านทานกระแสเงินทุนที่ยังคงไหลเข้าอย่างต่อเนื่องได้ เนื่องจากมาตรการอัดฉีดเงินของประเทศขนาดใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ส่งผลให้มีเงินล้นระบบอยู่อีกเป็นปริมาณมาก

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 0.25 อัตราดอกเบี้ยของยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 0.75 และอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 0.1 จึงจะเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไรก็ยังคงมีส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศอยู่ดี นอกจากนี้แล้ว การพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยยังต้องพิจารณาองค์ประกอบอีกหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพทางการเงินของประเทศ แนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคงต้องทำการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของการรักษาเศรษฐกิจของประเทศให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพสูงที่สุดนั่นเองค่ะ

อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (7-8 กุมภาพันธ์) ได้ปรับตัวลดลงในช่วงประมาณ 2-8 Basis Point ตามการคาดการณ์ถึงแนวโน้มและความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดดอกเบี้ย โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีล่าสุดอยู่ที่ 3.14% ปรับตัวลดลงจากช่วงต้นเดือนประมาณ 10 Basis Point ซึ่งสุดท้ายแล้ว ธปท.จะมีการตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินของไทย เราคงต้องติดตามจากผลการประชุมในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้อีกครั้งหนึ่งค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น