xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าไทยชี้บาทแข็ง 1 บาทเงินหายปีละ 2.16 แสนล้าน เตรียมชง 7 มาตรการให้รัฐใช้รับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอการค้าไทยหวั่นบาทแข็งกระทบเศรษฐกิจไทย หลังทำสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 17 เดือน ชี้แข็งค่าทุก 1 บาท ทำเงินผู้ส่งออกหายไป 1.8 หมื่นล้านต่อเดือน หรือ 2.16 แสนล้านต่อปี เผยอาหาร สิ่งทอ รองเท้า เกษตรแปรรูป ผลไม้กระป๋อง กระทบหนัก เตรียมเสนอ 7 มาตรการรับมือ

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากย้อนไปดูสถานการณ์เงินบาทปี 55 ที่ผ่านมา ค่าเงินเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.60-31.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแข็งค่าขึ้นไปสูงสุดที่ 30.60 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 31.78 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่ามีความสมดุล แต่ทันทีที่ก้าวเข้าสู่ปี 56 เงินบาท และเงินสกุลหลักต่างพุ่งแข็งค่าขึ้นรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทหลุดกรอบ 30 บาทไปที่ 29.75 บาท แข็งค่าที่สุดในรอบ 17 เดือน จากความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกปรับดีขึ้น หลังสหรัฐฯ หาข้อยุติเพื่อเลี่ยงปัญหาฐานะทางการคลังได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่เงินทุนไหลเข้าเริ่มทะลักสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้นเช่นกัน ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ประกอบกับนักลงทุนเริ่มหวังเข้าเก็งกำไร กินส่วนต่างดอกเบี้ยและค่าเงินไปพร้อมๆ กันด้วย แน่นอนว่าเงินบาทจึงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และหากไทยไม่ตั้งสติรับมือแล้วละก็อาจเพลี่ยงพล้ำทางเศรษฐกิจได้ง่ายๆ

การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะทำให้เงินในกระเป๋าของผู้ส่งออกหายไปประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 216,000 ล้านบาทต่อปี แน่นอนว่า เอสเอ็มอีอุตสาหกรรมอาหาร, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, รองเท้า, เกษตรแปรรูป, ผลไม้กระป๋อง ล้วนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก เพราะใช้วัตถุดิบในประเทศจำนวนมาก ต่างจากพวกอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ค้าน้ำมัน ที่ได้รับอานิสงส์จากการนำเข้าชดเชยรายได้ที่หายไประดับหนึ่ง

“ผมมองว่าเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงสุด เพราะบริหารจัดการค่าเงินไม่ได้ดีเท่าผู้ส่งออกรายใหญ่ ขณะที่การแข่งขันด้านราคาก็สู้คู่แข่งขันไม่ได้ โดยเฉพาะจีน เวียดนามที่ค่าเงินอ่อนกว่าไทย ดังนั้น คงต้องเป็นภาระของภาครัฐที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า สัปดาห์นี้ภาคเอกชนจะเสนอมาตรการลดผลกระทบค่าเงินบาท 7 มาตรการ ต่อภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แก่ 1) ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป 2) ดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าคู่แข่งในภูมิภาค โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และมาเลเซีย 3) ควรมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การถือครองเงินตราต่างประเทศ 4) การลดวงเงินการทำธุรกรรมในการป้องกันความเสี่ยงและลดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงมาตรการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น 5) ควรมีการแยกบัญชีต่างประเทศ ระหว่างบัญชีที่เข้ามาลงทุนและบัญชีเก็งกำไร 6) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเร่งแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และ 7) ให้ภาครัฐและเอกชนเร่งลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

“ภาคเอกชนต้องการให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทเป็นพิเศษ เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่เกิดจากการไหลเข้าของเงินดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว แต่ปัจจุบันเกิดจากการไหลเข้าของเงินเยนและยูโรที่ออกมาแสวงหาผลตอบแทนในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะไทยที่ให้ผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นสูงถึงร้อยละ 2.75 ผมคิดว่าในระยะสั้น 2-3 เดือนนี้เงินบาทยังมีความผันผวน และมีแนวโน้มยังแข็งค่าต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผมก็เห็นด้วยที่ผู้ส่งออกหรือภาคการผลิตหรือบริการที่มีรายรับ รายจ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศควรต้องปรับตัวรับความผันผวนนี้ เช่น การซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และมองว่าการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอาจเป็นโอกาสดีในการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรมาผลิตด้วย” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น