xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง “นิวัฒน์ธำรง” นั่ง ปธ.บอร์ด เยียวยาพิษบาทแข็ง-ค่าแรง 300 บาท “กิตติรัตน์” นั่งที่ปรึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครม.ตั้งบอร์ดเยียวยา “พิษบาทแข็ง-ค่าแรง 300 บาท” พร้อมแต่งตั้ง “นิวัฒน์ธำรง” เป็นประธานหัวหมู่ทะลวงฟัน ส่วนหัวเรือใหญ่ “กิตติรัตน์” ถูกดึงไปเก็บเพื่อลดแรงเสียดทาน โดยให้นั่งที่ปรึกษา

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายในและนอกประเทศในช่วงที่ผ่านมา อาทิ วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออก การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท และการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาท

คณะกรรมการ ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1, ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ คือ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงกำหนดสาขาของเอสเอ็มอีที่จะได้รับความช่วยเหลือ และกำหนดกรอบการใช้เงินตามโครงการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในลักษณะงบฉุกเฉินเร่งด่วน หรือเป็นเงินอุดหนุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของผู้ประกอบการจนขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารรัฐได้ รวมถึงจัดทำแนวทางการจัดสรรและอนุมัติงบประมาณการใช้เงินตามโครงการให้ความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา และพิจารณาเห็นชอบให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการตามหลักเกณฑ์ แนวทางและสาขาของเอสเอ็มอีด้วย

โดยให้คณะกรรมการฯ เร่งดำเนินการตามหน้าที่ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่แต่งตั้งภาคเอกชน โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ยื่น 7 ข้อเสนอการดูแลค่าเงินบาทต่อภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แก่ 1. ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป 2. ดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าคู่แข่งในภูมิภาค โดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซีย 3. ควรมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การถือครองเงินตราต่างประเทศ

4. การลดวงเงินการทำธุรกรรมในการป้องกันความเสี่ยงและลดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงมาตรการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น 5. ควรมีการแยกบัญชีต่างประเทศ ระหว่างบัญชีที่เข้ามาลงทุนและบัญชีเก็งกำไร 6. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเร่งแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และ 7. ให้ภาครัฐและเอกชนเร่งลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น