xs
xsm
sm
md
lg

300บาททำจีดีพีลดลง 2% “ทีดีอาร์ไอ” ห่วง“สิ่งทอ-เฟอร์”พัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(29 ม.ค.56) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เปิดเผยงานวิจัย โดยชี้ถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ระบุว่า ถึงแม้ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาจะส่งผลดีต่อแรงงานไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น นโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
งานวิจัย ผลกระทบของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ: การวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลอง ของ ดร. เชษฐา อินทรวิทักษ์ ได้ทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำโดยทำการจำลองสถานการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ในกรณีต่าง ๆ ที่มีผลจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว
ผลการศึกษาพบว่า การเพิ่มค่าจ้างเป็น 300 บาทจะช่วยเพิ่มรายได้ที่แท้จริงให้แก่แรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานทักษะต่ำได้ถึงร้อยละ 11.24 แต่หากผู้ประกอบการและแรงงานไม่มีการปรับตัวใด ๆ เลย ต้นทุนในการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น การหดตัวของการผลิต การลงทุน และการบริโภคจะส่งผลให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะลดลงร้อยละ 2.55 และการส่งออกลดลงร้อยละ 2.35 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง ไม้และเฟอร์นิเจอร์จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
กราฟแสดงให้เห็นว่า การส่งออกภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานทักษะต่ำเช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและไม้จะมีสัดส่วนลดลงมาก เนื่องจากราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงเช่น เคมี ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและยานยนต์ มีการส่งออกลดลงบ้างแต่ไม่มากนักหากเทียบกับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานทักษะต่ำ ไทยอาจจะถูกแย่งตลาดส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ใช้แรงงานทักษะต่ำจากประเทศคู่แข่งในเอเซียตะวันออก เอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียใต้

**ปูตั้ง30กรรมการอุ้มเอสเอ็มอีวิกฤติ300บ.
นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นทีปรึกษา, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รองประธานคนที่ 1, ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รองประธานคนที่ 2
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ปลัดกระทรวงพลังงาน, ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา และ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นต้น
หน้าที่ของคณะกรรมการจะดูแลปัญหาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะปัญหาสินเชื่อ ที่ผู้ประกอบการขาดหลักประกัน, ปัญหาต้นทุนสูง และปัญหาประสิทธิภาพและการผลิตต่ำ

**ลดส่งเงินเข้าประกันสังคม ร้อยละ 1
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ในเรื่องของการลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง ในอัตราเท่ากันคือ ร้อยละ 1 โดยจะส่งผลให้ทั้ง 2 ฝ่าย ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนร้อยละ 4 ตลอดปี 2556 ทั้งนี้ก็เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
นายเผดิมชัย กล่าวต่อว่า ในเรื่องนี้จะมีการประกาศราชกิจจานุเบกษาภายใน 30 วัน ถึงจะมีผลบังคับใช้ แต่ทางที่ประชุมเห็นว่า ในช่วงสิ้นเดือนต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ อยู่แล้ว จึงให้เริ่มบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป

** 25 วันแรงงาตกงานแล้ว 1,264 คน
นายเผดิมชัย เปิดเผยถึงข้อมูลของศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการ พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 1-25 มกราคม 2556 มีสถานประการเลิกจ้างลูกจ้าง16 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,264 คน เพิ่มขึ้นจากกลางเดือนที่ผ่านมา 2 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 231 คน สถานประกอบการที่เลิกจ้างจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มี 7 แห่งเท่ากับกลางเดือนที่ผ่านมา เป็นการเลิกจ้างบางส่วน 435 คน และสถานประกอบการเลิกจ้างจากผลกระทบอื่น อาทิ วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปมี 9 แห่ง เพิ่มขึ้น 2 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 598 คน ลูกจ้างเพิ่มขึ้น 231 คน แบ่งเป็นสถานประกอบการที่ปิดกิจการ 3 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 186 คน เพิ่มขึ้น 4 คน และสถานประกอบการเลิกจ้างบางส่วน 6 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างรวม 643 คน เพิ่มขึ้นจากกลางเดือน 217 คน ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป แปรรูปอาหาร และผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 2-25มกราคมที่ผ่านมา มีแรงงานโทรศัพท์สอบถามที่ศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการพร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อีก 71 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าจ้าง 300 บาท ถ้าบริษัทไม่จ่ายต้องทำอย่างไร เป็นต้น
จากการรายงานของศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการพร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ใน 25 จังหวัด ที่มีการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด พบว่ายังไม่มีลูกจ้างรายใดแจ้งขึ้นทะเบียนว่างงาน เนื่องจากผลกระทบค่าจ้าง 300 บาท แต่เป็นการแจ้งเลิกจ้างกรณีอื่นๆ จำนวน 99 คน ทั้งลาออกเองและเลิกจ้าง ในสถานประกอบการ 94 แห่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น