การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ตั้งเเต่วันที่ 1 มกราคม 2556 มีผู้ใช้แรงงานถูกเลิกจ้างและร้องเรียน ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรณีได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์เเรงงานไทย หรือ คสรท.ตั้งขึ้น ซึ่งสาเหตุการเลิกจ้างเนื่องจากผู้ประกอบหลายราย อ้างถึงผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทำให้ต้องปิดกิจการ เพราะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน และเป็นภาระบริษัทไม่สามารถจ่ายได้ เเต่จากการตรวจสอบข้อมูลรายรับของหลายบริษัทที่อ้างพบว่า หลายเเห่งมีกำไรมากกว่าครึ่ง ข้อมูลของเเรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ตั้งเเต่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ พบว่า เรงงานหญิงได้รับผลกระทบมากกว่าเเรงงานชาย เนื่องจากสถานประกอบการที่ปิดกิจการส่วนใหญ่อยู่ในประเภทสิ่งทอ เเละกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งมีพนักงานผู้หญิงร้อยละ 80 โดยผลกระทบสำคัญของเเรงงานหลังถูกเลิกจ้างคือ ภาระที่ต้องดูเเลสมาชิกที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ในครอบครัว ทั้งในเรื่องการบริโภคประจำวัน การศึกษาของบุตร เเละค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น คสรท.จึงเรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการ 5 เรื่อง คือ มีมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกผลกระทบจากการเลิกจ้าง ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองเเรงงานอย่างเคร่งครัด รัฐบาลไม่ควรปัดความรับผิดชอบในการให้ลูกจ้างมาต่อรองสิทธิกับนายจ้างเพียงลำพัง แต่ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเเละยั่งยืน จัดหางานหรืออาชีพให้กับเเรงงานที่ถูกเลิกจ้างทุกคนโดยทันที และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสถานประกอบการที่มีการเลิกจ้างคนงาน เเละปิดกิจการ หลังจากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ เเละค้นหาข้อเท็จจริงของบริษัทเเต่ละเเห่งที่เลิกจ้าง