ปลัดแรงงานยันธุรกิจเอสเอ็มอีแห่ปิดกิจการเป็นรายวันไม่ได้มีสาเหตุจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่มาจากขาดสภาพคล่อง
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งยังไม่มีใครหรือบริษัทใดได้รับผลกระทบเลิกจ้างจากการปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ มันเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าการเลิกจ้างเป็นสาเหตุมาจากการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท
นายสมเกียรติกล่าวว่า สถานการณ์การเลิกจ้างไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ รวมถึงเรื่องของการปิดกิจการก็ยังเป็นสถิติที่ปกติ ถือว่ายังลดลงกว่าหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการวิเคราะห์สาเหตุหลักของการปิดกิจการของกลุ่มเอสเอ็มอีคือประสบปัญหาเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจทุกแห่ง เช่น มีคำสั่งซื้อเข้ามาน้อย ขายไม่ออก มีปัญหาเรื่องของความต้องการย้ายกิจการจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งพอขาดสภาพคล่องจากการบริหารธุรกิจก็พ่วงประเด็นการปรับค่าจ้าง 300 บาทเข้าไป
“ผมไม่อยากให้สังคมตกใจ กระทรวงแรงงานยืนยันว่าการปิดกิจการ การเลิกจ้างตามที่เป็นข่าวเป็นเรื่องปกติของการประกอบธุรกิจ สถิติ ณ เวลานี้กับสถิติในหลายๆ ปีอยู่ในสภาวะปกติของประเทศ ไม่ได้เป็นเรื่องที่รุนแรงหรือผิดปกติแต่อย่างใด”
นายสมเกียรติกล่าวว่า จากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้รวบรวมข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างเพื่อความพร้อมในการแก้ไขปัญหาและให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่เดือดร้อนระหว่างวันที่ 1-9 ม.ค. 2556 พบว่ามีสถานประกอบการเลิกจ้างบางส่วนเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้าง 5 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 421 คน จากจำนวน 1,266 คน และได้ติดตามให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์แล้ว 7,147,250 บาท
สำหรับสถิติการเลิกจ้างตั้งแต่ปี 52-55 พบว่า ในปี 52 แบ่งเป็นช่วงไตรมาสแรกของปีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในไตรมาสแรกของปีมีการเลิกจ้างถึงราว 3 หมื่นกว่าราย จากนั้นสถานการณ์การเลิกจ้างในปี 52 ค่อยๆ ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แล้วลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงช่วงธันวาคมเหลือเพียง 8,185 คน ส่วนในปี 53 ยังอยู่ในสภาวะปกติของการเลิกจ้างซึ่งมีตัวเลขระหว่าง 7,000-9,000 คน กระทั่งเดือน ธ.ค. 53 ตัวเลขเลิกจ้างเหลือเพียง 5,625 คน ซึ่งเป็นตัวเลขการถูกเลิกจ้างในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยอยู่ในช่วงปกติ