xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประชานิยมเริ่มกดปุ่มทยอยปิดโรงงาน จวกรัฐจ่ายยามั่วลดผลกระทบค่าแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต้อนรับปี 2556 ผู้ใช้แรงงานต่างก็ได้รับอานิสงค์จากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศกันไปแบบถ้วนหน้า แต่สำหรับภาคการผลิตและบริการดูเหมือนจะเป็นปีที่เหนื่อยอีกปีหนึ่งของการดำเนินธุรกิจกับนโยบายดังกล่าว ยิ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ใน 70 จังหวัดยิ่งซ้ำร้ายหนักกับภาระที่ต้องแบกค่าแรงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40-80%

ขณะที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่มียอดขายต่ำทำให้กำไรเฉลี่ยไม่เกิน10% เมื่อเทียบต้นทุนกับกำไรเห็นๆว่าธุรกิจอยู่ยาก

การทยอยปิดกิจการเริ่มเกิดขึ้นเป็นข่าวรายวันตามสื่อทุกแขนง บางแห่งไม่ได้ปิดแต่ก็เริ่มปลดพนักงานออก เสียงเรียกร้องการชดเชยการถูกปลดเริ่มพบบ่อยขึ้น เมื่อเช็คลงไปให้ลึกภายในพบว่า บางรายก็อาศัยปัจจัย”ค่าแรง”เป็นตัวเร่งในการตัดสินใจปิดกิจการทั้งที่ก่อนหน้านี้ขาดทุนอยู่แล้ว แต่เมื่อค่าแรงขึ้นเลยง่ายที่จะตัดสินใจทิ้งทันที ...

แต่บางรายก็ไม่อาจปฏิเสธว่า”ค่าแรง”ส่งผลต่อการปิดกิจการโดยตรงโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ใช้แรงงานเข้มข้นแต่เสียงอาจยังไม่ดังพอ

แต่สำหรับฝั่งภาครัฐบาลแล้วดูจะประสานเสียงไปในทิศทางเดียวกันว่าการปิดกิจการที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยค่าแรง 300 บาทต่อวันแต่อย่างใด แม้กระทั่งหน่วยงานกำกับภาคการผลิตอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมก็ยืนยันว่าผลการสำรวจเบื้องต้นไม่พบว่าการปิดกิจการมาจากปัจจัยการขึ้นค่าแรงตัวเลขการปิดโรงงานปี 2555 กว่า 1,000 แห่งถือเป็นยอดปิดปกติเฉลี่ย 3 ปีก็เท่านี้

อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็ยอมรับว่า การจะระบุชัดเจนว่าโรงงานปิดเพราะผลกระทบค่าแรง 300 บาทต่อวันในขณะนี้เป็นเรื่องที่เร็วเกินไป จากการหารือกับเอกชนยืนยันว่าคงจะต้องรอช่วงไตรมาสแรกก่อนก็น่าจะเห็นผลและยืนยันได้ชัดเจนขึ้น ......

ไม่ว่าการปิดกิจการจะมาจากปัจจัยใดแน่ ในส่วนของมาตรการลดผลกระทบนั้นล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 56 ที่ได้เห็นชอบ 15 มาตรการออกมาช่วยแต่ก็สร้างความผิดหวังต่อภาคเอกชน เพราะ 11 มาตรการเป็นของเก่าช่วงน้ำท่วมและมาตรการใหม่ก็ช่วยผิดฝาผิดคนคือแทนที่จะช่วยคน ลำบากแต่กลับไปให้คนที่สามารถอยู่รอดได้แทน

เช่นสินเชื่อเอสเอ็มอีซึ่งเอกชนชี้ให้เห็นว่าถ้าธุรกิจขาดทุนเขาจะขอได้ไหมใครจะกล้าอนุมัติสินเชื่อให้

เช่นเดียวกับมาตรการด้านภาษี ฯ เอสเอ็มอีมีกำไรก็จ่ายภาษีอยู่แล้วแต่ถ้าไม่มีกำไรเขาก็ไม่จ่าย เป็นต้น

มาตรการช่วยเหลือจากรัฐถูกวิพากษ์จากเอกชนและที่ดูรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนน่าจะเป็นคำแถลงข่าวของนายเจน นำชัยศิริ รองประธานส.อ.ท.เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ซึ่งระบุชี้ชัดให้เห็นถึงที่ไปที่มาของมาตรการต่างๆ ว่าเอกชนได้เข้าไปร่วมกับฝ่ายรัฐในการหารือมาตรการทั้งหมดและก่อนหน้าก็พยายามชี้ให้เห็นว่ามาตรการที่เป็นยาแรงควรจะเป็นการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าแรง 300 บาทต่อวัน

โดยนายเจนยืนยันว่ามาตรการจ่ายชดเชยส่วนต่างนั้น ก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐทีเกี่ยวข้องก็เห็นด้วยโดยได้ประเมินเม็ดเงินที่รัฐจะต้องจัดงบมาสนับสนุนจากการอิงตัวเลขธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบใน 70 จังหวัดที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่มีการจ้างงานราว 2.2 ล้านคนซึ่งก็พบว่าจะใช้เงินสูงสุดจ่ายเยียวยา 5 หมื่นล้านบาททยอยจ่ายใน 3 ปีคือตั้งแต่ปี 2556-2558 และยังกำหนดแนวทางว่าควรจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจริงๆ

กล่าวคือรัฐสามารถดูที่ต้นทุนค่าแรงเทียบยอดขายถ้าพบว่าสูงมากก็ค่อยช่วย ซึ่งข้อมูลค่าแรงก็พิจารณาได้จากระบบประกันสังคมและยอดขายก็เช็คผ่านการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหากพิจารณางบที่รัฐบาลจะจ่ายจริงๆ ถ้ามีการดูอย่างละเอียดและรอบคอบมีการโฟกัสการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจริงแล้วเม็ดเงินที่รัฐจะต้องจ่ายมาชดเชยจริงอาจเหลือแค่ 2-3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

“ กลุ่มคนที่จะช่วยและเม็ดเงินมีการทำอย่างชัดเจนให้เห็น แต่รัฐไม่ช่วยก็ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลว่าทำไมช่วยไมได้ ไม่มีเงินหรืออย่างไร ถ้าไม่มีมาหารือกันไหม และที่สำคัญยังกล่าวหาว่าส.อ.ท.นำประเด็นนี้มาเป็นการเมือง น้อยใจและผิดหวังมากผมไม่เคยใช้ประเด็นนี้เป็นการเมืองเลย ต้องย้อนถามกลับว่าใครเอาประเด็นนี้มาเป็นการเมืองกันแน่” นี่คือคำกล่าวของนายเจนระหว่างชี้แจงกับผู้สื่อข่าวในวันนั้นซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผิดหวังต่อมาตรการรัฐบาลอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ คงจะต้องจับตาความพยายามของภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพราะงานนี้ไม่ว่าจะเป็นส.อ.ท. กลุ่ม ก๊วนไหน ก็ดูจะมีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกันคือการผลักดันให้รัฐออกมาตรการใหม่ที่ตรงใจ! และเอาอยู่ !เพื่อสกัดไม่ให้ธุรกิจปิดตัวโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ....งานนี้ต้องวัดฝีมือเอกชน! ว่าจะทำให้รัฐบาลชุดนี้หันมาประชานิยมกับภาคธุรกิจได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น