xs
xsm
sm
md
lg

รัฐจ่ายยามั่วรับมือค่าแรง300บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “ ผมไม่เข้าใจว่าการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันให้อยู่รอดได้ด้วยการจัดงบประมาณราว 5 หมื่นล้านบาทมาจ่ายชดเชยส่วนต่างใน 3 ปี(ปี 56-58 ) มันยากนักหรือทั้งที่เขาก็เป็นคนไทยแถมยังจ่ายภาษีเป็นรายได้รัฐอีก แต่การจำนำข้าว การลดภาษีรถยนต์คันแรก ทำไมทำได้ทั้งที่รัฐต้องจ่ายเงินไปมากมาย ”นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวอย่างน้อยใจเมื่อมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) 8 ม.ค. 56 ซึ่งอนุมัติ 15 มาตรการลดผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศได้สร้างความผิดหวังให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะบรรดาผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) อย่างสิ้นเชิงซึ่งก็สอดรับกับความเห็นของส.อ.ท.อีกฝ่ายอย่างนายธนิต โสรัตน์ รักษาการประธานส.อ.ท. ที่ระบุในทำนองเดียวกันและย้ำว่าได้เสนอมาตรการดังกล่าวซึ่งเป็น 1 ใน 7มาตรการส่งผ่านไปยังเลขาฯนายกรัฐมนตรีแล้วจึงหวังว่านายกฯจะเข้าใจปัญหาที่แท้จริงเนื่องจากเข้าใจว่าที่ผ่านมาหลายฝ่ายมักมองว่าเอสเอ็มอีเป็นพวกที่ชอบหนีภาษีและไม่รู้จักปรับตัวทั้งที่ตลอดเวลาเอสเอ็มอีไทยหากเทียบกับต่างชาติถือว่าได้รับการดูแลจากภาครัฐน้อยมาก

ทั้งนี้ทุกส่วนมองว่า 15 มาตรการที่รัฐบาลคลอดออกมาเปรียบเสมือนการให้ยาไม่ตรงโรคหรือแค่จ่ายยาพาราทั้งที่เป็นเนื้อร้าย ไม่ตอบโจทย์ของความต้องการจากภาคธุรกิจโดยชี้ให้เห็นว่า 15 มาตรการดังกล่าวนั้น 11 มาตรการเป็นของเดิมที่ทำอยู่แล้วในช่วงที่ประสบภาวะน้ำท่วมเพียงแค่ขยายเวลาออกไปบางส่วนเท่านั้น ส่วนมาตรการใหม่ 4 มาตรการ 2มาตรการเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวว่าด้วยการแก้ไขกฏหมายเพื่อลดค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมรายปีลง 50% กับการปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ขณะที่มาตรการเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมโดยตรงว่าด้วยมาตรการให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ย 0.1% เพื่อใช้ในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และการจัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการต่าง ๆกระทรวงแรงงาน ซึ่งประเด็นนี้ทุกฝ่ายต่างก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่เอกชนทำอยู่แล้วและต้องอาศัยเวลาในระยะกลางและยาว ส่วนมาตรการจัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ เป็นอีกมาตรการที่ถูกวิพากษ์หนักว่าใช้อะไรคิดเพราะก่อนหน้านี้ภาคเอกชนได้เสนอให้ตัดออก

ทั้งนี้ส.อ.ท.ได้เสนอมาตรการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างการขึ้นค่าแรงคือปี 2556 นายจ้างจ่าย 25% รัฐบาลจ่ายชดเชย 75%ปีแรกจะใช้เงินราว 2.4 หมื่นล้านบาท ปี 2557 นายจ้างจ่าย 50% รัฐบาลจ่าย 50% ใช้เงิน 1.8 หมื่นล้านบาท และปี 2558 นายจ้างจ่าย 75% รัฐบาลจ่าย 25% จะใช้เงินอีกราว 7 พันล้านบาท รวมแล้วราว 5 หมื่นล้านบาทซึ่งวิธีนี้จะชะลอการปลดพนักงานและเลิกกิจการได้ผลมากสุดและยังทำให้เอสเอ็มอีมีเวลาปรับตัวใน 3 ปีก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ปี 2558

สำหรับเงื่อนไขที่จะช่วยเหลือจะเป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ใน 70 จังหวัดเท่านั้น และจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบสวัสดิการสังคม กรณีเอสเอ็มอีที่มีความสามารถในการจ่าย 300 บาทต่อวันก็จะไม่ให้ ซึ่งวิธีนี้ระยะยาวรัฐมีแต่ได้และคุ้มค่าที่เงินจะจ่ายไปเพราะเมื่อเอสเอ็มอีเข้าระบบมากขึ้นรัฐก็จะมีเงินเข้าสู่ระบบประกันสังคมที่เพิ่มเติมและพนักงานก็จะใช้ระบบประกันสังคมรัฐจะสามารถลดภาระหาเงินอุดหนุนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคได้ และที่สำคัญคลังจะมีรายได้เพิ่มจากการที่จะมีเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบฐานภาษีที่เพิ่มขึ้น

ข้อเสนอดังกล่าวภาคเอกชนภายใต้คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ได้พยายามผลักดันตั้งแต่ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันด้วยซ้ำ จนกระทั่งที่สุดรัฐก็ทยอยขึ้นค่าแรง 7 จังหวัดนำร่องไปก่อน 1 เม.ย. 55 และต่อมาที่เหลือ 70 จังหวัดก็มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 56 โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลต่างย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่าการปิดกิจการจะไม่ใช่มาจากเหตุผล 300บ./วันและก็ไม่เห็นมีซึ่งนั่นก็เพราะ 7 จังหวัดนำร่องล้วนแต่จ่ายค่าแรงที่สูงอยู่แล้ว แต่เมื่อ 70 จังหวัดที่เหลือขึ้นบ้างข่าวการปิดกิจการก็เริ่มมีให้เห็นเป็นรายวันหากรัฐไม่ปิดหู ปิดตา ก็จะพบว่ามาจากผลกระทบขึ้นค่าแรงโดยตรง

เหตุผลเมื่อเช็คไปยังผู้ประกอบการถึงการปรับตัวและข้อเท็จจริงว่าจะถึงขั้นปิดกิจการมากน้อยเพียงใด คำตอบชัดเจนว่าธุรกิจเกิดแล้วไม่มีใครอยากปิดก็ต้องดิ้นปรับตัวก่อน คือ เริ่มจากบางส่วนปลดคนงานออกในส่วนที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือซึ่งโรงงานส่วนใหญ่มีเกรดวัดระดับฝีมือแรงงานอยู่แล้ว

ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนและหันมาเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานที่เหลือและจะไม่รับแรงงานเพิ่มจากนี้ไป หากรายใดมีทุนก็หันไปปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอีกส่วนกรณีที่กระจายโรงงานหรือจ้างผลิตไปอยู่ต่างจังหวัดเพราะแรงงานขาดแคลนก่อนหน้านี้ก็จะจ้างลดลงหรือโยกกลับมาไว้ในโรงงานที่ใกล้วัตถุดิบและการขนส่งเนื่องจากต่างจังหวัดต้นทุนโลจิสติกส์จะแพงกว่าก็จะเสียเปรียบแต่อดีตอยู่ได้เพราะค่าแรงต่ำกว่านั่นเอง ฯลฯ การปรับตัวดังกล่าวเอกชนมองว่าในระยะ 3เดือนก็น่าจะเห็นผลว่าถึงที่สุดควรจะอยู่ต่อไปได้หรือไม่...แต่สำหรับเอสเอ็มอีรายเล็กจริงๆ เมื่อต้นทุนสูงกว่ารายรับที่เคยได้แน่นอนว่าได้ชิงปิดไปแล้วแต่ด้วยเล็กมากเลยขาดความสนใจจากสื่อ

เหนือสิ่งอื่นใดหากเอสเอ็มอีไทยล้มหายตายจากไปก่อนที่จะเข้าสู่ AEC ไม่เพียงทำลายระบบห่วงโซ่การผลิตของไทย ยังจะเป็นการเปิดทางให้ต่างชาติทะลักเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ในไทยมากขึ้น …ถึงตอนนั้นเราจะร้องหาสินค้าไทยได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น