xs
xsm
sm
md
lg

SMEส่อเจ๊งอีกเพียบ เปิดเวที21ม.ค.ระดมแผนรับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.อ.ท.ผวาโรงงานนับหมื่นแห่งส่อเจ๊ง ส่งหนังสือ”ยิ่งลักษณ์”หวังคลอดมาตรการตรงปัญหา แนะจัดงบฯ 5หมื่นล้านจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าแรงทยอยใน 3 ปี เตรียมทำโพลสำรวจทั่วประเทศยืนยันความเห็นโรงงานส่อปิดกิจการมีมากน้อยเพียงใด พร้อมระดมเวทีภาคธุรกิจทุกส่วนถกแผนรับมือ 21 ม.ค.นี้

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการและรักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้น 300 บาท/วันทั่วประเทศคาดว่าจะมีผลกระทบต่อโรงงานทุกภาคส่วนแต่จะกระทบที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและย่อม(SMES) มากสุดราว 4.4 หมื่นกว่าแห่งซึ่งในจำนวนนี้หากไม่ได้รับการเยียวยาเร่งด่วนก็มีโอกาสจะเห็นการปิดตัวได้นับหมื่นแห่งดังนั้นส.อ.ท.

จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการเยียวยาเร่งด่วนก่อนที่เอสเอ็มอีจะปิดกิจการไปมากกว่านี้
“ วันนี้เราก็เห็นว่าธุรกิจเริ่มมีการปลดแรงงาน และปิดกิจการหนีต้นทุนที่สูงขึ้นและหากไม่มีมาตรการที่ดูแลตรงจุดจะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เรายังหวังว่านายกรัฐมนตรีจะเข้าใจหลังที่ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือถึงไปแล้วในการให้ออก 7 มาตรการดูแลโดยเฉพาะการจัดงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาทจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าแรงโดยทยอยจ่ายใน 3 ปีหรือถึงสิ้นปี 2558

เพื่อให้เกิดการปรับตัวซึ่งเราเป็นห่วงเพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เป็นคนไทยหากล้มหายตายจากเมื่อเปิด AEC จะทำให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามายึดตลาดเราหมดได้”นายธนิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ข้อมูลมีความชัดเจนและเชื่อถือได้มากขึ้นทางส.อ.ท.ได้เริ่มลงพื้นที่และจัดทำโพลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการใน 5 ภูมิภาคว่านโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศทำให้ต้นทุนเพิ่มอย่างไร ต้องการมาตรการช่วยเหลืออย่างไรและแนวโน้มจะอยู่รอดหรือปิดกิจการซึ่งคาดว่าจะสรุปเร็วๆ นี้และนำไปประมวลผลร่วมกับเวทีจัดเสวนาโต๊ะกลมที่จะมีการเชิญสมาคมธุรกิจต่างๆ ทั้งโรงแรม ท่องเที่ยว ขนส่ง อุตสาหกรรม ภาคเกษตร เข้ามาร่วมระดมความเห็นถึงผลกระทบและมาตรการที่ควรจะนำมาลดผลกระทบเร่งด่วนสุดเพื่อนำเสนอรัฐบาลต่อไป

***ชิมลางปี’55ปิดกิจการ1พันแห่ง

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่า ปี 55 มีโรงงานที่จำหน่ายทะเบียนต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือปิดกิจการประมาณ 1,000 ราย มูลค่า 29,000 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน 31,000 คน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 54 รวมถึงไม่สามารถแข่งขันได้จากต้นทุนที่ปรับตัวสูงทั้งจากวัตถุดิบ และค่าจ้างขั้นต่ำ

จังหวัดที่มีการปิดโรงงานในปริมาณมากคือในกรุงเทพฯและปริมณฑล, ภาคกลาง และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปี 55 มีโรงงานได้รับอนุญาตเปิดใหม่ 4,000 ราย มูลค่าลงทุนกว่า 172,000 ล้านบาท และมีการจ้างงาน 98,500 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประเมินผลกระทบการขึ้นค่าจ้างทำให้อุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นมากสุดมีจำนวน 6.6 หมื่นแห่ง จ้างงาน 7.7 แสนคน.
กำลังโหลดความคิดเห็น