ASTVผู้จัดการออนไลน์ - มาตรการเยียวยาเอสเอ็มอี 5 ข้อที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาในวันอังคารที่ 8 ม.ค.นี้ ถูกตอกกลับทันควันว่าไร้ประโยชน์ ขณะที่รัฐบาลโยนทิ้งข้อเรียกร้องขอให้ตั้งกองทุนอุ้มผู้ประกอบการ ผลวิจัยย้ำเอสเอ็มอีกระเทือนหนักเข้าขั้นโคม่านับล้านราย
นโยบายประชานิยมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศพ่นพิษไม่หยุด กิจการทยอยปิดพุ่งไม่หยุด โดยไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลจะเข้ามาเยียวยาผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านรายอย่างจริงจัง ดูได้จากมาตรการเยียวยาที่ผ่านมาและมาตรการเพิ่มเติมที่กำลังจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาในวันอังคารที่ 8 ม.ค. 2556 นี้ ทั้งๆ ที่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นให้เห็นพอที่จะคิดรับมือแก้ไขให้ตรงจุดมาตั้งแต่การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทใน 7 จังหวัดเมื่อเดือนเมษายน 2555 มาแล้ว
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การประชุม ครม.วันที่ 8 ม.ค. นี้จะมีการเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทอีก 5 ข้อ โดยเป็นการเพิ่มเติมจากที่ ครม.เห็นชอบไปก่อนหน้านี้แล้ว
ทั้งนี้ มาตรการเพิ่มเติม 5 ข้อที่นายเผดิมชัยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย
1. การปรับลดค่าธรรมเนียมที่พักและโรงแรมในกลุ่มเอสเอ็มอีลง 50% เป็นเวลา 3 ปี (ปัจจุบันจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้ารัฐปีละ 80 บาทต่อห้อง)
2. การจัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปตามสถานศึกษาและสถานประกอบการต่างๆ
3. การเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ
4. จัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปตามสถานประกอบการและชุมชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
และ 5. มาตรการลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากเดิม 3% เหลือ 2% ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 2 หมื่นล้านบาท จากปกติรัฐจะจัดเก็บรายได้ในส่วนนี้เป็นเงินปีละ 6 หมื่นล้านบาท โดยการลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย 1% ถือว่าสอดคล้องกับการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20% ในปีนี้
ส่วนข้อเสนอสำคัญที่สุดที่ภาคเอกชนต้องการ คือ ขอให้รัฐบาลตั้งกองทุนเพื่อชดเชยส่วนต่างการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งประมาณการว่าจะต้องใช้เม็ดเงินเบื้องต้น 5 หมื่นล้านบาทนั้น นายเผดิมชัยยืนยันว่า รัฐบาลยังไม่มีการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว และขอเวลาดูผลกระทบที่ชัดเจนที่คาดว่าจะสรุปได้เดือนมีนาคม 2556 หรืออีก 3 เดือนข้างหน้า
ปฏิกิริยาจากกลุ่มผู้ประกอบการต่อมาตรการเยียวยาที่ รมว.แรงงานจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสวนกลับทันควันว่า นี่เป็น “มาตรการที่ไร้ประโยชน์” ดังที่นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ว่าไว้ แม้กระทั่งการลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายลงร้อยละ 1 เป็นการลดตามสัดส่วนของภาษีนิติบุคคลที่ลดลง ซึ่งกฎหมายบังคับอยู่แล้ว จึงเสมือนว่ารัฐบาลไม่ได้เพิ่มมาตรการอะไร
ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงนั้นส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 60,000 ล้านบาท ทำให้ต้นทุนผลิตสินค้าในภาพรวมเพิ่มขึ้น 3-6% และนั่นหมายถึงราคาสินค้าต้องปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
“นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80% ภายใน 1-2 ปีสร้างความปั่นป่วน และเสียหายแก่อุตสาหกรรมของไทยเป็นอย่างมาก” นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ย้ำถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ 11 มาตรการที่รัฐบาลออกมาก่อนหน้านี้ ทั้งด้านสินเชื่อและลดต้นทุนผู้ประกอบการ รวมถึงการลดเงินส่งสมทบกองทุนประกันสังคม และการหักภาษีค่าเสื่อมเครื่องจักรมากขึ้น สะท้อนผลชัดเจนว่าแก้ไขปัญหาไม่ได้ผล ผู้ประกอบการจำนวนมากเข้าไม่ถึงและไม่ได้รับประโยชน์ เพราะหากได้ผลจริงผู้ประกอบการคงไม่ตอกกลับรัฐบาลชนิดไม่ไว้หน้าอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้
นี่เป็นเพียงผลกระทบในช่วงแรกๆ เท่านั้นยังโกลาหลกันขนาดนี้ ยังจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาอีกหลายระลอก ดังผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
เมื่อเร็วๆ นี้ นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลศึกษาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทในปี 2556 และการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 70 จังหวัด จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,344 ราย จาก 21 จังหวัด และสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการ 50 ราย
ผลจากการวิจัยพบว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประมาณ 800,000 ถึง 1 ล้านรายอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และยังไม่พร้อมรับมือกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยคาดว่าจะมีแรงงานตกงานถึง 640,000 คนที่ไหลไปยังภาคเกษตร และอีกจำนวนหนึ่งที่ออกไปทำงานนอกระบบเพื่อไม่ให้ตกงาน
นายเกียรติอนันต์กล่าวว่า เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการกว่า 62% เห็นว่าการจัดตั้งกองทุนการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการเป็นมาตรการที่ได้ผลดีที่สุด โดยการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างควรทำแบบขั้นบันได เพื่อให้เกิด Soft Landing โดยเงินชดเชยต่อคนต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ 75 บาท มีระยะเวลา 3 ปี
หากในปีแรกรัฐช่วยรับภาระ 75% และผู้ประกอบการรับภาระ 25% จะใช้งบประมาณ 71,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2557 และปี 2558 สัดส่วนเงินชดเชยจากภาครัฐสามารถลดลงมาเป็น 50% และ 25% งบประมาณที่ต้องใช้ในปี 2557 จะประมาณ 48,000 ล้านบาท และ 24,000 ล้านบาทในปี 2558 รวมแล้วงบประมาณที่ต้องใช้ในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีจำนวนประมาณ 140,000 ล้านบาท
“..... หากมาตรการนี้ไม่เกิดเอสเอ็มอีจะตายเร็วขึ้น ขณะที่เอสเอ็มอีรายใหม่จะหันไปใช้เทคโนโลยีแทนการจ้างแรงงาน เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการย้ายโรงงานมาอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร เกิดความไม่เท่าเทียมกันในเชิงภูมิภาค ตัวเลขการว่างงานในต่างจังหวัดจะยิ่งมากขึ้น ซึ่งผลกระทบจะเกิดขึ้นชัดเจนในอีก 5 ปีข้างหน้า” นายเกียรติอนันต์ กล่าว
ต้องติดตามกันต่อไปว่า ประชานิยมค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท จะสร้างคะแนนเสียงให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถล่มทลาย หรือจะช่วยให้รัฐบาลพังเร็วขึ้นเพราะเกิดความปั่นป่วนโกลาหลเพราะคนตกงาน ถูกเลิกจ้าง ปิดกิจการ สินค้าขึ้นราคา ค่าครองชีพพุ่ง ฯลฯ ที่กำลังถาโถมเข้าใส่รัฐบาลในขณะนี้