xs
xsm
sm
md
lg

โรงงานเชียงใหม่โอดค่าแรง 300 บาทขจัดเอสเอ็มอี-ทำทุนพุ่งลูกค้าหาย เร่งรัฐช่วยเยียวยาก่อนล้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก แสดงจดหมายจากคู่ค้าในประเทศเยอรมนี ที่แจ้งยกเลิกการทำธุรกิจร่วมกับทางบริษัท เนื่องจากไม่สามารถซื้อสินค้าในราคาที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายค่าแรง 300 บาทได้
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้ประกอบการเชียงใหม่โอดขึ้นค่าแรง 300 บาทกระทบต้นทุนพุ่ง เหตุต้องจ่ายเยอะกว่าส่วนกลางแถมต้นทุนขนส่ง-พลังงานมากกว่าทำแข่งขันลำบาก เผยอาการหนักหลังต่างประเทศเลิกจ้างเหตุสู้ราคาสินค้าไม่ไหว เตรียมเสนอรัฐบาลช่วยชดเชยค่าจ้างส่วนต่าง ชี้ 300 บาทขจัดเอสเอ็มอีแน่ถ้ารัฐไม่ช่วย ระบุหลายรายรอดูทิศทางรัฐก่อนตัดสินใจสู้ต่อหรือถอดใจ

นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ และกรรมการบริษัทคอนเฟ็ดเดอเรท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยถึงผลกระทบจากนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่า ขณะนี้ผลกระทบที่บริษัทได้รับก็คือรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นทันทีหลังจากที่มีการปรับอัตราค่าจ้างเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราค่าจ้างในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่นั้นปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าส่วนกลาง กล่าวคือปรับเพิ่มขึ้นถึง 120 บาท ขณะที่บางจังหวัดอย่างเช่นจังหวัดพะเยาปรับเพิ่มขึ้นถึง 141 บาท แตกต่างกับหลายๆ จังหวัดในส่วนกลาง โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดนำร่อง 7 จังหวัดที่มีการปรับอัตราค่าจ้างล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ทำให้การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างในรอบเดือน ม.ค.นี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

อัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ทำให้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดปรับตัวไม่ทัน เนื่องจากต้นทุนค่าแรงได้เพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่นบริษัทของตนที่มีต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.8 ล้านบาท อีกทั้งยังมีต้นทุนในด้านค่าขนส่งและค่าพลังงานที่สูงกว่า ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้อยกว่าผู้ประกอบการในส่วนกลาง ขณะที่มาตรการของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่งเสริมการจ้างงานจากสำนักงานกองทุนประกันสังคม หรือการลดภาระการสมทบเงินประกันสังคมให้ลูกจ้างลงร้อยละ 1 นั้นไม่สามารถทดแทนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้

นายวีระยุทธกล่าวต่อว่า ขณะนี้บริษัทของตนยังได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายดังกล่าว กล่าวคือ บริษัทคู่ค้าจากประเทศเยอรมนีที่เคยว่าจ้างให้บริษัทของตนผลิตเสื้อผ้ามานานกว่า 22 ปีได้ยุติการว่าจ้างลงแล้ว เนื่องจากบริษัทของตนไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้จึงขอปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ลูกค้าไม่สามารถซื้อสินค้าในราคาดังกล่าวได้ จึงได้ขอยุติการทำธุรกิจระหว่างกันลง โดยลูกค้าจะเปลี่ยนไปหาแหล่งผลิตในประเทศอื่นที่มีราคาต้นทุนถูกกว่า
 
ส่วนบริษัทของตนก็จะไม่มีคำสั่งซื้อใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมทั้งสูญเสียลุกค้าที่ทำรายได้ถึงร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทไป หลังจากที่การปรับค่าจ้างครั้งก่อนเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2555 ทำให้ลูกค้าของบริษัทที่เคยมีอยู่ 5 รายลดลงเหลือ 2 รายมาแล้ว จนมาถึงในครั้งนี้คงเหลือเพียงคำสั่งซื้อจากลูกค้าในประเทศฝรั่งเศสเพียงรายเดียวเท่านั้น

นายวีระยุทธระบุว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทส่งผลอย่างมากต่อผู้ประกอบการที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกมากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากไม่สามารถปรับราคาสินค้ากับลูกค้าเพื่อให้คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ อย่างเช่นในกลุ่มของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ซึ่งในขณะนี้ในพื้นที่ภาคเหนือพบว่าโรงงานสิ่งทอที่จังหวัดตากได้ปิดกิจการไปแล้ว 8 แห่ง
 
ส่วนผู้ประกอบการด้านสิ่งทอรายใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีอยู่ประมาณ 10 ราย ซึ่งรวมถึงบริษัทของตนด้วยนั้นก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน ทำให้หลายแห่งต้องมีการปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่นปรับมาจ่ายค่าแรงเป็นรายวัน หรือยกเลิกค่าล่วงเวลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการจากธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน และกำลังอยู่ในระหว่างการปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของตนนั้นมองว่าในอนาคตอาจจะต้องหันมาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดในกลุ่มเออีซีเป็นการทดแทน

ทั้งนี้ นายวีระยุทธได้เสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการจากผลกระทบของนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งมีสาระสำคัญคือ เสนอให้มีกองทุนจ่ายเงินชดเชยค่าจ้างส่วนต่างของ 70 จังหวัดที่ปรับเพิ่มขึ้นในวันที่ 1 ม.ค. โดยในปี 2556 ให้รัฐบาลจ่ายชดเชยร้อยละ 75 นายจ้างจ่ายชดเชยร้อยละ 25 ปี 2557 รัฐบาลจ่ายชดเชยร้อยละ 50 นายจ้างจ่ายชดเชยร้อยละ 50 ปี 2558 รัฐบาลจ่ายชดเชยร้อยละ 25 นายจ้างจ่ายชดเชยร้อยละ 75 และปล่อยเป็นค่าจ้างลอยตัวในปี 2558

ข้อเสนอดังกล่าวนี้นายวีระยุทธชี้แจงว่า เคยนำเสนอต่อรัฐบาลผ่านทางสภาอุตสาหกรรมมาแล้ว แต่รัฐบาลไม่รับข้อเสนอดังกล่าวโดยอ้างว่าไม่มีหลักการในการนำเงินภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทโดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ทางกลุ่มผู้ประกอบการจึงเตรียมที่จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาลเพื่อขอความช่วยเหลืออีกครั้งในการประชุมที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวันที่ 21 ม.ค.ที่จะถึงนี้

รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือกล่าวด้วยว่า นโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาทจะเป็นมาตรการที่ขจัดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ดีที่สุด หากภาครัฐไม่เห็นชอบกับมาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการเสนอ เนื่องจากจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้ประกอบการหลายรายใช้ในการตัดสินใจว่าจะยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปหรือไม่ แต่หากรัฐบาลยังคงนิ่งเฉยก็จะมีผู้ประกอบการอีกเป็นจำนวนมากที่จะตัดสินใจปิดตัวลงเนื่องจากต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นแต่กลับไม่มีความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐ ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการก็เสียภาษีให้รัฐและสร้างรายได้ให้ประเทศแต่กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่รัฐเองกลับนำงบประมาณเข้าไปอุดหนุนหรือชดเชยในหลายๆ โครงการที่ผู้ที่ได้รับประโยชน์อาจจะไม่ได้เสียภาษีหรือสร้างรายได้เข้าประเทศแต่อย่างใด



กำลังโหลดความคิดเห็น