xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการอีสานกว่าครึ่งยังไม่ปรับค่าแรง 300 บาท ร้องรัฐช่วยเหลือตัวเงินให้ชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - อีสานโพลเผยผลสำรวจผลกระทบค่าแรง 300 บาทต่อผู้ประกอบการอีสาน พบผู้ประกอบการกว่าครึ่งยังไม่ปรับค่าแรง โดยจะปรับราคาสินค้าเพื่อลดผลกระทบ และเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือที่เป็นตัวเงินชัดเจน

วันนี้ (17 ม.ค.) ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยถึงการสำรวจผลสำรวจผลกระทบค่าแรง 300 บาทต่อผู้ประกอบการอีสาน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10-13 มกราคมที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 600 รายในเขต จ.นครราชสีมา (ค่าแรงขั้นต่ำเดิม 255 บาท) จ.อุดรธานี (ค่าแรงขั้นต่ำเดิม 239 บาท) และ จ.ขอนแก่น (ค่าแรงขั้นต่ำเดิม 233 บาท)

ความเห็นเกี่ยวกับการปรับตัวหลังขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท พบว่าผู้ประกอบการเริ่มปรับให้ลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาร้อยละ 49.3 กิจการที่คาดว่าจะไม่ปรับร้อยละ 37.7 โดยมีกิจการที่ยังไม่ได้เริ่มปรับค่าแรง แต่กำลังจะปรับร้อยละ 9.8 ในจำนวนนี้จะปรับขึ้นภายใน 1-3 เดือน ที่เหลือคือกลุ่มที่ไม่แน่ใจหรือยังไม่มีกำหนดร้อยละ 3.3

เมื่อถามต่อถึงผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับ พบว่าต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 46.6 โดยในจำนวนนี้มีร้อยละ 54.7 คาดว่าต้นทุนจะสูงขึ้นไม่เกินร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือคาดว่าจะเกิน รองลงมาคือยอดจำหน่ายสินค้าลดลงร้อยละ 13.9 โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 55.3 คาดว่ายอดจำหน่ายจะลดลงไม่เกินร้อยละ 10 ส่วน ที่เหลือคาดว่าจะเกิน และได้รับผลกระทบด้านความสามารถในการแข่งขันลดลง ร้อยละ 7.7 ขาดแคลนแรงงานรายวันร้อยละ 5.4 ผลกระทบด้านอื่น เช่น คาดว่าจะปิดกิจการ คุณภาพแรงงานต่ำ หรือค่าครองชีพสูงขึ้นร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการร้อยละ 26.2 ที่ไม่ได้รับผลกระทบ

สำหรับแผนรองรับผลกระทบ พบว่าร้อยละ 36.3 จะปรับราคาจำหน่ายสินค้าให้สูงขึ้น ร้อยละ 17.7 จะลดสวัสดิการบางส่วน เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าอาหาร เงินโบนัสประจำปีลง ร้อยละ 17.4 จะลดจำนวนแรงงาน ร้อยละ 16.7 จะเพิ่มปริมาณงานต่อชั่วโมงให้มากขึ้น และร้อยละ 1.9 จะจ้างแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น อีกร้อยละ 10 จะใช้วิธีอื่น เช่น ลดการซื้อวัตถุดิบกักตุน หรือทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย

ด้านมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น เห็นว่าการลดภาระต้นทุนที่เป็นตัวเงิน เช่น ลดเงินสมทบประกันสังคม คืนภาษีขาย ลดภาษีโรงเรือนและที่ดิน จะเป็นมาตรการช่วยเหลือได้มากที่สุดร้อยละ 22.1 รองลงมาคือ จัดตั้งกองทุนจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการร้อยละ 21.3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เหมาะสมเชิงพื้นที่ตามจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดร้อยละ 13.1 มาตรการปรับเพิ่มฐานการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 12.7 มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 7.5 และมาตรการอื่นอีกร้อยละ 23.3

ดร.สุทินกล่าวว่า จากผลสำรวจจะเห็นว่ามีผู้ประกอบการไปรับเพิ่มค่าแรงตามนโยบายเพียงครึ่งเดียว ยังมีผู้ประกอบการอีกกว่าครึ่งที่ยังไม่สามารถปรับค่าแรงได้ สำหรับด้านผลกระทบส่วนใหญ่เห็นว่าต้นทุนที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือยอดขายที่จะลดลง อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการจำนวนน้อยที่คิดว่าอาจต้องปิดกิจการ ส่วนด้านการปรับตัว ส่วนใหญ่จะเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งส่งผลต่อค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และส่งผลย้อนกลับไปยังค่าครองชีพของแรงงานเองด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น