รองประธาน ส.อ.ท.ระบุ มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เอสเอ็มอีนับเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เพราะธุรกิจเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีกำไร ขณะที่ รมว.แรงงานยอมรับโรงงานปิดตัวรายวัน
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังจะเสนอให้มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเอสเอ็มอีที่มีกำไรไม่มาก เพื่อช่วยลดผลกระทบการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศว่า มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เอสเอ็มอีนับเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เพราะธุรกิจเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีกำไร จึงไม่มีประโยชน์ที่จะยกเว้นหรือลดอัตราภาษีและเห็นว่าข้อเสนอของอุตสาหกรรม 5 ภาค ทั้ง 7 มาตรการเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด
สำหรับการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงนั้น นายทวีกิจกล่าวว่า กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และมีทุนมากกว่าเอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจของต่างชาติ บริษัทเหล่านี้ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีมากกว่าแรงงาน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง โดยมาตรการที่จะออกมาช่วยต้องเป็นรูปธรรมที่ทำแล้วเห็นผลทำได้จริง การช่วยเหลือด้านสภาพคล่องก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะผลกระทบเกิดขึ้นแล้วจากต้นทุนการปรับเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาท
นายทวีกิจกล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจส่งออกที่เป็นรายเล็กและเอสเอ็มอี ขณะนี้การปรับค่าแรง 300 บาทเริ่มส่งผลกระทบแล้วหลายอุตสาหกรรมทั้งสิ่งทอและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยต่างจังหวัดที่รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศหายไปแล้วเฉลี่ยร้อยละ 10-20 ขณะที่การเพิ่มราคาทำได้ยาก เพราะลูกค้าต่างประเทศจะหันไปสั่งซื้อจากประเทศอื่นที่ต้นทุนถูกกว่า โดยผู้สั่งซื้อมองว่าการปรับเพิ่มราคาเป็นเพราะนโยบายค่าแรงของประเทศไทย จึงจะไปสั่งซื้อในประเทศคู่แข่งที่ต้นทุนค่าแรงถูกกว่าแทน เช่น เวียดนามและกัมพูชา
ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) รายงานว่าตั้งแต่วันที่ 1-4 ม.ค. 2556 มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแล้ว 4 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 275 คน
“ยังมีแนวโน้มเลิกจ้างอีก 2 แห่ง ลูกจ้าง 480 คน และมีอีก 5 แห่งที่ส่งสัญญาณขาดสภาพคล่องและหมดสัญญาเช่าที่ ลูกจ้าง 999 คน” นายเผดิมชัยกล่าว
ดังนั้น การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (8 ม.ค.) จะหารือมาตรการเยียวยาเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คลังจะเสนอ ครม.ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มียอดรายรับไม่เกินปีละ 50 ล้านบาท โดยขยายฐานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นกำไรไม่เกิน 3 แสนบาทแรก เดิมยกเว้น 1.5 แสนบาทแรก
สำหรับกำไรที่เกิน 3 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เสียในอัตรา 15% และรายได้เกิน 1 ล้านบาท เสีย 20% เหมือนเดิม
นายเผดิมชัยกล่าวว่า จะเสนอมาตรการเพิ่มเติม 5 ข้อ คือ 1. ลดค่าธรรมเนียมห้องพักโรงแรม จากปัจจุบันที่จัดเก็บห้องละ 80 บาท/ปี นาน 3 ปี ลดค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจรายปีลง 50%
2. จัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปสถานศึกษาและสถานประกอบการ 3. เพิ่มค่าใช้จ่ายจัดประชุมสัมมนาส่วนราชการ 4. จัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ และ 5.ลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 2%