ม.หอการค้าไทยจี้รัฐออกมาตรการช่วยเอสเอ็มอีกระทบค่าแรง 300 บาท แนะลดภาษีวัตถุดิบ และเงินได้นิติบุคคล เชื่อช่วยเอสเอ็มอีรอดได้ พร้อมสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำนำเข้าเครื่องจักร
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการติดตามผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ยอมรับว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ต้องการให้รัฐบาลใช้มาตรการลดผลกระทบให้กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในหลายกลุ่ม เช่น เสื้อผ้า อาหารแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
นายอัทธ์เห็นว่า รัฐบาลควรใช้มาตรการลดต้นทุนเกี่ยวกับวัตถุดิบให้น้อยลง การให้สิทธิพิเศษทางภาษี โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลที่รัฐบาลได้ปรับลดภาษีลงมาแล้วเหลือร้อยละ 20 แต่เห็นว่าอัตราดังกล่าวยังสูง ควรจะลดเหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 15 เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่รอดได้ รวมทั้งการสนับสนุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ด้วยการลดภาษีเครื่องจักรและการหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามหลายกลุ่มอุตสาหกรรมปิดกิจการจากปัญหาค่าแรงขั้นต่ำมองว่ายังไม่ใช่ปัจจัยที่แท้จริง เพราะต้องดูว่ากลุ่มเอสเอ็มอีที่ปิดกิจการมาจากสาเหตุการปรับขึ้นค่าแรงอย่างเดียวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องหาแนวทางช่วยเหลือในหลายด้าน และยังมองว่าอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีกลุ่มใดไม่สามารถรับภาระต้นทุนที่สูงน่าจะใช้วิธีปรับลดจำนวนพนักงานลง และคิดว่าโอกาสที่พนักงานของกลุ่มบริษัทต่างๆ ของไทยจะตกงานมากขึ้น ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน