ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2555 ดีดตัวสูงขึ้นในรอบ 14 เดือน เชื่อจากเหตุชุมนุมไม่ยืดเยื้อ การคงอัตราดอกเบี้ยของรัฐฯ และค่าแรง 300 บาทเชื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนปัจจัยลบกระทบความเชื่อมั่นคือราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2555 พบว่าเป็นการปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 มาอยู่ที่ระดับ 79.1 จากระดับ 77.8 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยอยู่ที่ 69.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ 68.1 ถือเป็นการปรับสูงขึ้นในรอบ 14 เดือนเช่นกัน
ทั้งนี้ ดัชนีที่สูงขึ้นมีผลจากประชาชนคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมที่ไม่ยืดเยื้อ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไว้ที่ร้อยละ 2.75 การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนียังต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของการส่งออก ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในอนาคต และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่เชื่อว่าถือเป็นสัญญาณที่เป็นบวก โดยหากไม่มีปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าปัจจุบันและไม่มีปัญหาการเมือง ดัชนีความเชื่อมั่นจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนภายในไตรมาส 1 ปี 2556
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนบ้าง เช่น การประมาณการเศรษฐกิจไทยที่จะชะลอตัวลง ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศสูงขึ้น ความกังวลถึงราคาสินค้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นไม่สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น และความกังวลจะถูกเลิกจ้างจากปัจจัยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งรัฐบาลควรเร่งรัดการใช้จ่ายนโยบายด้านการคลังผ่านการใช้งบประมาณ และนโยบายการเงินผ่านการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการฟื้นเศรษฐกิจ และพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก