ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 เดือนนับจากน้ำท่วม คาดความเชื่อมั่นจะเป็นปกติตั้งแต่ไตรมาสแรกปีหน้า และการจับจ่ายใช้สอยจะเป็นปกติตั้งแต่ไตรมาส 2
นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน พ.ย. 2555 จากตัวอย่าง 2,247 รายว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 79.1 เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.ที่ 77.8 และเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 14 เดือนนับตั้งแต่เกิดปัญหาน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 61.4 เพิ่มจาก 60.1 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 85 เพิ่มจาก 83.6 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 69.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วที่ 68.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 71.2 เพิ่มจาก 69.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 96.8 เพิ่มจาก 95.3
ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นปรับเพิ่มนั้น มาจากความกังวลเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองคลายตัวลงหลังจากการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วภายในวันเดียว และไม่เกิดความรุนแรงขึ้น ประกอบกับรัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศในปีหน้าช่วยเพิ่มรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กน.) ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ 2.75% และภาคการส่งออกเดือน ต.ค. กลับมาขยายตัวได้สูงถึง 15.6% ทำให้ประชาชนกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
ส่วนปัจจัยลบที่บั่นทอนความเชื่อมั่น คือ การที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศลดการเติบโตจีดีพีปีนี้จาก 5.5-6% เหลือเพียง 5.5% และยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันเบนซินที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองที่อาจปะทุขึ้นอีกได้ รวมถึงความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย
“ขณะนี้ประชาชนมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น แต่ยังคงระมัดระวังอยู่ โดยแนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตน่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่อง และหากไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง หรือปัญหาเศรษฐกิจโลกกระทบอย่างรุนแรง ดัชนีความเชื่อมั่นน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในปลายไตรมาสแรกปี 56 และตั้งแต่ไตรมาสสองปีหน้า การใช้จ่ายจะเข้าสู่ภาวะปกติ” นายธนวรรธน์กล่าว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน พ.ย. 2555 จากตัวอย่าง 2,247 รายว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 79.1 เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.ที่ 77.8 และเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 14 เดือนนับตั้งแต่เกิดปัญหาน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 61.4 เพิ่มจาก 60.1 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 85 เพิ่มจาก 83.6 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 69.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วที่ 68.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 71.2 เพิ่มจาก 69.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 96.8 เพิ่มจาก 95.3
ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นปรับเพิ่มนั้น มาจากความกังวลเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองคลายตัวลงหลังจากการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วภายในวันเดียว และไม่เกิดความรุนแรงขึ้น ประกอบกับรัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศในปีหน้าช่วยเพิ่มรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กน.) ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ 2.75% และภาคการส่งออกเดือน ต.ค. กลับมาขยายตัวได้สูงถึง 15.6% ทำให้ประชาชนกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
ส่วนปัจจัยลบที่บั่นทอนความเชื่อมั่น คือ การที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศลดการเติบโตจีดีพีปีนี้จาก 5.5-6% เหลือเพียง 5.5% และยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันเบนซินที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองที่อาจปะทุขึ้นอีกได้ รวมถึงความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย
“ขณะนี้ประชาชนมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น แต่ยังคงระมัดระวังอยู่ โดยแนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตน่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่อง และหากไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง หรือปัญหาเศรษฐกิจโลกกระทบอย่างรุนแรง ดัชนีความเชื่อมั่นน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในปลายไตรมาสแรกปี 56 และตั้งแต่ไตรมาสสองปีหน้า การใช้จ่ายจะเข้าสู่ภาวะปกติ” นายธนวรรธน์กล่าว