กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ สภาฯ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจงผลกระทบนโยบายรัฐบาลฯ ปู ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ตัวแทน สสว.แจงผู้ประกอบการกระทบ แต่เลือกช่วยเหลือตัวเอง เปลี่ยนจากจ้างประจำเป็นเหมาชิ้น ส่วนปลัดแรงงานอ้างตัวเลขคนตกงานพันกว่าคนปกติ โวมีมาตรการรองรับ ส่วน สนง.เศรษฐกิจการคลังเผยยอดจัดเก็บภาษีต้องรอดูกลางปี คาดรัฐสูญเสียรายได้ 6.4 พันล้าน
วันนี้ (16 ม.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชนินทร์ รุ่งแสง เป็นประธานคณะกรรมาธิการ เชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาล จนเป็นเหตุให้มีสถานประกอบการและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมากได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญรัฐมนตรีและตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน เพื่อให้เข้าชี้แจงแนวทางในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวว่ารัฐบาลมีแนวคิดในเรื่องนี้อย่างไร ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหาทางออกเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ แต่ที่ผ่านมารัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลับไม่ให้ความสนใจ และไม่เดินทางมาร่วมประชุม ส่งแต่ตัวแทนที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจมาร่วมประชุมแทนทุกครั้ง จึงทำให้การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้า
นายจุติ ไกรฤกษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ สอบถามว่าทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีการเตือนผู้ประกอบการอย่างไร และมีการวิเคราะห์หรือไม่ว่า หากมีการย้ายฐานการผลิตประเทศจะเสียประโยชน์ไปมากเพียงใด เหตุผลที่ไม่รับข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคืออะไร ซึ่งตัวแทนจาก สสว.ตอบว่า ทุกอย่างต้องรอการดำเนินการทางภาครัฐ หรือแนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างงาน เรื่องของการส่งออกก็มีการหารือในแนวทางการแก้ไขอยู่บ้าง แต่เนื่องจากปัญหายังไม่เกิดมาตรการที่ออกมาจึงยังไม่ชัดเจน ตัวแทนจาก สสว.มีการเตรียมมาตรการรองรับที่นอกเหนือจากมาตรการของรัฐบาล คือ พยายามช่วยในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้คำปรึกษาเบื้องต้นในเรื่องของการลดต้นทุนในการผลิต มีการจัดทีมนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญลงไปวินิจฉัยสถานประกอบการว่ามีขีดความสามารถมากน้อยเพียงใด ส่วนสถานประกอบการที่มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายฐานการผลิตเพื่อไปอยู่ในพื้นที่ที่มีแรงงานราคาถูก ก็จะมีการช่วยเหลือในการปล่อยกู้ และเรื่องของการลดหย่อนดอกเบี้ยจากแหล่งเงินทุน และยังต้องมีการส่งเสริมช่องทางในการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ รวมไปถึงมีการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯ มองว่านโยบายที่ทาง สสว.ชี้แจงเป็นสิ่งเลื่อนลอยที่ใช้วิธีการเปิดตำราในการแก้ปัญหา โดยวิธีการดังกล่าวก็ไม่สามารถทำได้จริง และไม่ทันต่อการแก้ปัญหาเร่งด่วนที่มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยนายชนินทร์ระบุว่ามีความไม่สบายกับการแก้ปัญหาของ สสว.ที่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนออกมารองรับปัญหา ทั้งที่ผลกระทบกำลังจะบานปลายแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับยังรอเวลาเพื่อให้ปัญหาลุกลามโดยไม่มีการเตรียมการแก้ไข ขณะที่ตัวแทนจาก สสว.ชี้แจงว่า มีการพิจารณาผลกระทบจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิม ซึ่งจากการประเมินขณะนี้ยังไม่พบว่าผลกระทบจากกรณีดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น และมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการประมาณ 300 รายยอมรับว่าได้รับผลกระทบแต่ก็มีการช่วยเหลือตัวเองโดยการลดต้นทุนในการผลิต เช่นเปลี่ยนการจ้างงานจากการเป็นลูกจ้างประจำเป็นการจ้างงานแบบเหมาชิ้น
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ถามว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาท ในบางพื้นที่ที่มีค่าแรงถูกจะได้รับผลกระทบในเรื่องของการสูญเสียฝีมือแรงงานหรือไม่ เพราะปัจจุบันที่ค่าแรงในทุกพื้นที่เท่าเทียมกัน แรงงานก็คงไม่ต้องการที่จะอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรม เพราะจะสามารถช่วยเหลือเยียวยาแรงงานได้มากกว่า ซึ่งตัวแทน สสว.ชี้แจงว่า ต้องยอมรับว่าอาจจะมีในบางพื้นที่ที่ต้องสูญเสียศักยภาพในการผลิตไป แต่หากมองในเรื่องของการบริหารจัดการนโยบายของรัฐบาลก็มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมให้ย้ายฐานการผลิตเพื่อให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่มีความสะดวกในการขนส่ง
ขณะที่นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า ภาพรวมผลกระทบตั้งแต่ 1-15 ม.ค. 2556 มีตัวเลขการเลิกจ้างพันกว่าคน ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ปกติ ซึ่งทั้งรัฐบาลและกระทรวงแรงงานก็มีมาตรการออกมารองรับ 17 มาตรการด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาจะแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุม
ส่วนมาตรการในการปรับเปลี่ยนเรื่องของการจัดเก็บภาษีนั้น คณะกรรมาธิการได้สอบถามว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้ประมาณเท่าไหร่ ตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ชี้แจงว่ามาตรการนี้ยังไม่มีผลที่เห็นเป็นรูปธรรม ต้องรอการยื่นเสียภาษีในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ จึงทำให้ยังไม่สามารถประเมินการสูญเสียรายได้ทั้งหมดได้ ซึ่งจากการประเมินตามสถิติซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการณ์น่าจะอยู่ที่เกือบ 6,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังสอบถามปลัดกระทรวงแรงงาน ว่าแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเพราะเจ้าของกิจการย้ายฐานการผลิตหรือปิดกิจการ กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ตกงานอย่างไรบ้าง และที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มีการสำรวจปริมาณแรงงานต่างด้าวยบ้างหรือไม่ว่ามีอยู่เท่าไหร่ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้แรงงานที่ได้รับประโยชน์เป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าว ปลัดกระทรวงแรงงานชี้แจงว่า กระทรวงแรงงานมีมาตรการในการรองรับแรงงานที่ตกงานอยู่แล้ว ส่วนผู้ประกอบการก็เข้าไปช่วยในเรื่องของการปรับลดเรื่องสวัสดิการของลูกจ้างลงเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ และในอนาคตจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานในเมืองไปยังชนบท ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงจะเข้าไปดูในเรื่องของการหาแรงงานทดแทน กระทรวงแรงงานจึงมีการเตรียมฝึกอบรมเด็กจบใหม่ให้สามารถพัฒนาขึ้นเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคตเพื่อมาทดแทน ส่วนแรงงานต่างด้าวเป็นเพียงกลุ่มแรงงานทดแทนแรงงานไทยที่มีจำนวนลดลงเท่านั้น เช่นเดียวกันกับเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำก็ต้องครอบคลุมไปถึงค่าแรงของแรงงานต่างด้าวที่ก็ต้องได้รับในอัตราที่เท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า ตัวแทนที่มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการในวันนี้ เป็นการชี้แจงแบบเลื่อนลอย และยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งเท่ากับว่าทั้งผู้ประกอบการและแรงงานก็คงต้องทนรับสภาพต่อไปจนกว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถหามาตรการที่ชัดเจนออกมาแก้ปัญหา
อีกด้านหนึ่ง คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้เเทนราษฎร ที่มีนายนิทรรศ ศรีนนท์ เป็นประธาน ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าชี้แจงผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2556 แต่เนื่องจากติดภารกิจ จึงมอบหมายให้นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้มาชี้แจงแทน
โดยนายสมเกียรติชี้แจงถึงภาพรวมจากรายงานของสำนักงานประกันสังคมที่มีแรงงานในระบบ ว่า ตั้งแต่วันที่ประกาศใช้นโยบายจนถึงปัจจุบัน มีการจ้างงานเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีอัตราลูกจ้างในระบบ จำนวน 9.4 ล้านคน โดยมีอัตราการเลิกจ้างในภาวะปกติ อยู่ที่ 5,000-9,000 คน มีเพียงช่วงเดียวที่อยู่ในภาวะวิกฤต คือช่วงวิกฤตเศตรฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 และจากการติดตามผลกระทบจากนโยบายผลกระทบตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายนี้ พบว่า มีอัตราการเลิกจากเพียง 1,100 คนเท่านั้น ขณะที่ผู้ประกอบการที่ปิดกิจการ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่มีปัญหา ขาดทุน อยู่แล้ว ทั้งนี้ ยืนยันว่าภาครัฐ ได้มีการกำหนดมาตราการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง อาทิ กำหนดให้นำส่วนต่าง ของค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจำนวน 1 เท่าครึ่ง สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ จึงถือว่าไม่กระทบมากนัก
ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการคนที่ 4 กล่าวว่า จากการติดตามและศึกษาเรื่องนี้ ในส่วนของการลงทุนของโรงงานขนาดใหญ่อาจยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคครัวเรือนต่างๆ ในต่างจังหวัด ที่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เช่นเดียวกับจังหวัดเศรษฐกิจ ในกรุงเทพฯ และชลบุรี จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ซึ่งหากดำเนินการไปอีก 2-3 เดือน เชื่อว่าผลกระทบจะชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นจึงฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลให้แรงงานตกงานจำนวนมาก