xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

15มาตรการเยียวยาค่าแรง 300 SMEหนูทดลองยา ผู้ประกอบการ “รอดหรือร่วง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -1 มกราคม 2556 เป็นวันแรกที่ 70 จังหวัดที่เหลือเริ่มต้นปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ตามจังหวัดนำร่อง 7 จังหวัดที่ได้ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้ แน่นอนว่านโยบายนี้ย่อมส่งผลกระทบในด้านบวกแก่ผู้ใช้แรงงานที่มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศตามทิศทางที่รัฐบาลต้องการปรับสมดุลของประเทศที่เดิมเน้นไปที่การส่งออกเป็นหลัก

แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการทั้งหลายย่อมได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่เป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งที่ได้มีการเรียกร้องต่อรัฐบาลมาตลอดให้หามาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นซึ่งหากเลวร้ายสุดอาจถึงขั้นปิดกิจการและทำให้แรงงานตกงานได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอจากคณะกรรมการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อบรรเทาผลกระทบการปรับ ค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจ เอสเอ็มอี แบ่งเป็น 5 มาตรการหลัก 15 มาตรการย่อย

สำหรับ “5 มาตรการหลัก” แบ่งเป็น 1.มาตรการเพื่อเสริมสภาพคล่อง เพิ่มวงเงินลงทุนทางการเงินผ่านกระบวนการสินเชื่อ 2.มาตรการลดต้นทุนผู้ประกอบการโดยผ่านกระบวนการทางภาษีและเงินสมทบ 3.มาตรการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ผู้ประกอบการ 4.มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ โดยการทบทวนค่าใช้จ่ายของภาครัฐให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และ 5.มาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการขายโดยผ่านการบริโภค

ส่วน “มาตรการย่อย” จะกระจายอยู่ใน 5 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการหลักที่ 1 แบ่งเป็น 4 มาตรการย่อย คือ 1.1 มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสร้างสภาพคล่องสถานประกอบการและเพิ่มผลผลิตแรงงาน 1.2 มาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต โดยกระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาโครงการออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 วงเงินเดิม 2 หมื่นล้านบาท 1.3 มาตรการสินเชื่อในลักษณะการค้ำประกันวงเงิน รวมทั้ง พอร์ตสินเชื่อ (พีจีเอส) ระยะที่ 5 ระยะเวลาโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2558 วงเงินค้ำประกัน 2.4 แสนล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี 1.4 มาตรการค้ำประกันสินเชื่อแบบพีจีเอสสำหรับผู้ประกอบการใหม่ กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาถึงปี 2558 สำหรับเกณฑ์ระยะเวลาการดำเนินงานของผู้ประกอบการใหม่ให้ปรับจากเดิมไม่เกิน 2 ปี เป็นไม่เกิน 3 ปี

มาตรการหลักที่ 2 ประกอบด้วย 7 มาตรการย่อย ได้แก่ 2.1 มาตรการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยลดอัตราเงินสมทบจาก 5% เหลือ 4% 2.2 มาตรการการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ในปี 2556 กระทรวงการคลังลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% และกระทรวงการคลังรับไปปรับช่วงกำไรสุทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่เอสเอ็มอี ตามความเหมาะสม

2.3 มาตรการการนำส่วนต่างของค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท มาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษีได้ 1.5 เท่าของส่วนต่างค่าจ้าง 2.4 มาตรการการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 มาหักลดหย่อนภาษี กระทรวงการคลัง ให้คงการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนามาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า 2.5 มาตรการการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นมาตรการเดิมให้ขยายเวลาออกไป 1 ปี ในปี 2556

2.6 มาตรการการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร 2.7 มาตรการการลดค่าธรรมเนียมห้องพักที่เรียกเก็บสำหรับโรงแรมที่พักลง 50% จากที่เก็บห้องละ 80 บาทต่อปี เหลือ 40 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี

มาตรการหลักที่ 3 มี 2 มาตรการย่อย คือ 3.1 มาตรการการให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ย 0.1% เพื่อใช้ในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 3.2 มาตรการการจัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการต่างๆ สำหรับ มาตรการหลักที่ 4 มาตรการย่อยคือ มาตรการการปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณา และ มาตรการหลักที่ 5 มาตรการย่อยคือ มาตรการการจัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ กระทรวงพาณิชย์รับไปดำเนินการโครงการสินค้าธงฟ้า และร้านค้าถูกใจให้ครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น

โดยมาตรการดังกล่าวทั้ง 15 ข้อที่รัฐบาลออกมานั้น “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรมว.คลัง ได้ให้ความเห็นว่า รัฐบาลไม่จริงใจที่จะบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะข้อเสนอเรื่องการชดเชยค่าแรงแบบขั้นบันได 3 ปีที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณในการชดเชยประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับมาตรการอื่นที่รัฐบาลให้เงินงบประมาณนับแสนล้านบาทเพื่ออุดหนุนคนกลุ่มเล็กๆ ถือว่ามีความคุ้มค่ากว่ามาก

“รัฐบาลควรจะยอมถอยสักก้าวเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่ถูกผลักภาระจากรัฐบาลโดยตรง เนื่องจากเอสเอ็มอีคือกลุ่มที่มีการจ้างงานกว่า 90% ของอัตราการจ้างงานทั้งประเทศ ดังนั้นนโยบายที่ออกมาและมีผลกระทบโดยตรงต่อคนกลุ่มนี้รัฐบาลก็ควรจะใส่ใจให้มากขึ้น งบประมาณปีละกว่า 4 หมื่นล้านหากนำมาชดเชยให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถรักษาโครงสร้างต้นทุนอย่างถาวรได้ในอนาคตน่าจะเกิดผลดีต่อศักยภาพการผลิตของประเทศได้ในอนาคต”

สิ่งที่ต้องคอยติดตามต่อไปคือมาตรการทั้ง 15 ข้อดังกล่าวของรัฐบาลจะสามารถประคับประคองเอสเอ็มอีไทยให้สามารถอยู่รอดได้แค่ไหน ต้องใช้ระยะเวลาอีกเท่าไรในการทบทวนมาตรการบรรเทาและเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ !!!


กำลังโหลดความคิดเห็น