xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เยียวยาผลกระทบ ค่าแรง 300 บาท เท่..แต่กินไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปิดกิจการล้มตายกันเป็นใบไม้ร่วงหลังจากนโยบายค่าแรง 300 บาท มีผลทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังเรียงหน้าหลับหูหลับตาออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่าที่ล้มหายตายๆ กันนั้นไม่ได้มาจากการขึ้นค่าแรงแต่อย่างใด

เพราะการไม่ยอมรับความจริงว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบรุนแรงมาตั้งแต่ต้นที่รัฐบาลประกาศใช้ค่าแรง 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง เมื่อเดือนเมษายน 2555 มาจนถึงบัดนี้ หรืออีกทางหนึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อาจจะอยากให้ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมที่มีอยู่อย่างหลากหลายค้ำจุนประเทศชาติตายไปให้หมด ให้เหลือแต่เพียงทุนใหญ่บริวารรัฐบาลไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่ตระกูล กุมเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้มือก็เป็นได้ จึงทำให้การออกมาตรการเยียวยาบรรเทาผลกระทบเป็นไปแบบที่ว่าไปไหนมาสามวาสองศอก ถามหมูตอบไก่ เฉไฉไปเรื่อย ไม่ช่วยให้ตรงเป้าประสงค์ที่ผู้ประกอบการต้องการให้ช่วย เพื่อให้อยู่รอดได้จริงๆ

ดังนั้น ไม่ว่าเป็นมาตรการชุดเล็ก ชุดใหญ่ โปรโมชั่นลด แลก แจก แถม กระหน่ำ กี่ มาตรการก็ไม่ได้มีน้ำยาที่จะไปเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น มาตรการต่างๆ จึงเหมือนสักแต่เพียงออกมาให้ดูแล้ว เท่ .... แต่กินไม่ได้ ไปเสียอย่างนั้น

อย่างมาตรการเยียวยาล่าสุด ที่ “เดอะโต้ง” นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 8 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการชุดใหญ่บรรเทาผลกระทบเอสเอ็มอีจากการปรับขึ้นค่าแรง โดยอวดโอ่ว่านี่เป็นแพคเกจเสริมชุดใหญ่รับมือการเยียวยาทั้งระยะสั้น กลางและในระยะยาว เชื่อว่าเอาอยู่แน่

แต่ที่สุดแล้วก็ต้องถามว่าจะมีธุรกิจเหลือรอดมาขอรับประโยชน์จากมาตรการด้านภาษีและแหล่งเงินทุนอยู่สักกี่ราย เพราะทันทีที่ปรับขึ้นค่าแรงก็ล้มตายเลิกกิจการกันไปหมดแล้ว

สำหรับมาตรการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการการคลัง และการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีรายละเอียดดังนี้

1.ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 รวมทั้งให้นายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลให้หักค่าใช้จ่ายส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำได้ 1.5 เท่า, ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, ให้สามารถหักค่าเสื่อมเครื่องจักรใหม่ได้ร้อยละ 100 ในปีแรก

2.ปรับเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้า และการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท จากเดิม 150,000 บาทแรก เป็น 300,000 บาทแรก สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มใน หรือหลังมกราคม พ.ศ.2556 เป็นต้นไป เพื่อลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs ที่มีรายได้น้อย และปรับโครงสร้างอัตราภาษีของ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลให้เท่าเทียมกัน

3.ปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าที่พัก และค่าอาหารในการฝึกอบรมของส่วนราชการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ และสภาวการณ์ปัจจุบัน

4.จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่

5 ต่อเนื่องจากระยะที่ 4 ผ่านบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินค้ำประกันรวม 240,000 ล้านบาท โดยยื่นรับคำขอค้ำประกันได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี เพื่อสนับสนุน SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดหลักประกันให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อ โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุด 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ

5.ขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักร และสินเชื่อเพื่อพัฒนากระบวนการทำงานในวงเงินรวม 2 โครงการที่ 20,000 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดการอนุมัติสินเชื่อในวันที่ 23 เมษายน 2557 เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อจาก ธพว. ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยให้วงเงินสินเชื่อรวมกันไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี หรือ 7 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทสินเชื่อ และมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ใน 2 ปีแรก และให้ ธพว.พิจารณาสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ปิดรับคำขอ

6.ขยายระยะเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) ออกไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และปรับเกณฑ์คุณสมบัติ SMEs จาก SMEs ที่ประกอบกิจการที่มีอายุกิจการไม่เกิน 2 ปี เป็นอายุกิจการไม่เกิน 3 ปี เพื่อช่วย SMEs ขนาดย่อมที่เพิ่งเริ่มกิจการให้เข้าถึงสินเชื่อ และคงค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 2.5 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อตลอดอายุการค้ำประกัน 7 ปี โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SMEs ในปีแรก จากเดิมร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.50

นายกิตติรัตน์ ยังเชื่อมั่นว่า มาตรการการคลัง และการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs สำหรับกำไรสุทธิ 150,000 บาท เป็น 300,000 บาท คาดว่าจะมี SMEs ที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 210,000 ราย มาตรการด้านการเงิน PGS5 คาดว่าจะทำให้มี SMEs ได้สินเชื่อเพิ่ม 80,000 ราย สร้างสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 424,800 ล้านบาท เกิดการจ้างงานรวม 320,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2.328 ล้านล้านบาท

ขณะที่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลับมองเห็นว่า การปฏิเสธข้อเสนอของภาคเอกชนที่ขอให้ตั้งกองทุนชดเชยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และมาตรการลดหย่อนภาษีเมื่อหักออกมาเป็นตัวเงินถือว่าน้อยมาก ประโยชน์ที่จะได้รับจริงจึงถือว่าต่ำมาก รัฐบาลอาจมองว่า ไม่กระทบธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีถือเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ และหากธุรกิจเอสเอ็มอีเหล่านี้อยู่ไม่ได้ จะต้องมีการนำเข้ามากขึ้น การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท จะกระทบกับอุตสาหกรรมไทยทั้งหมด

ส่วนปฏิกิริยาจากกลุ่มผู้ประกอบการนั้น ได้ดาหน้าออกมาซัดรัฐบาลแบบไม่ไว้หน้าต่อมาตรการเยียวยาตั้งแต่ที่รู้ว่า นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะนำเอามาตรการไก่กาเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว

นี่เป็น “มาตรการที่ไร้ประโยชน์” นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตอกกลับ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าแรงนั้นส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 60,000 ล้านบาท ทำให้ต้นทุนผลิตสินค้าในภาพรวมเพิ่มขึ้น 3-6% และนั่นหมายถึงราคาสินค้าต้องปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80% ภายใน 1-2 ปีสร้างความปั่นป่วน และเสียหายแก่อุตสาหกรรมของไทยเป็นอย่างมาก” นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ย้ำถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นรุนแรงแค่ไหน นอกเหนือจากการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ชี้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่และจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีลดลงประมาณ 2% แล้ว ยังมีผลวิจัยของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ชี้ว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประมาณ 800,000 ถึง 1 ล้านรายอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และยังไม่พร้อมรับมือกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยคาดว่าจะมีแรงงานตกงานถึง 640,000 คนที่ไหลไปยังภาคเกษตร และอีกจำนวนหนึ่งที่ออกไปทำงานนอกระบบเพื่อไม่ให้ตกงาน

ผลวิจัย ระบุว่า สิ่งที่จะช่วยได้คือ ข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการกว่า 62% ที่เห็นว่าการจัดตั้งกองทุนการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการเป็นมาตรการได้ผลดีที่สุด โดยการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างควรทำแบบขั้นบันได เพื่อให้เกิด Soft Landing โดยเงินชดเชยต่อคนต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ 75 บาท มีระยะเวลา 3 ปี

แต่เสียงเรียกร้องของผู้ประกอบการให้มีการตั้งกองทุนช่วยเหลือ รัฐบาลปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ไม่เหมือนโครงการจำนำข้าว ซึ่งแม้ว่านายกสมาคมชาวนาไทย จะออกมาบอกว่าหาทางช่วยชาวนาแบบอื่นที่จะยั่งยืนกว่าและไม่ต้องใช้เงินงบประมาณมากมายฤดูกาลผลิตละแสนถึงสองแสนล้านบาท แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ยังยืนยันเดินหน้าจะต้องจำนำข้าวลูกเดียว

การปรับขั้นค่าแรงที่ประเมินกันว่า ผู้ใช้แรงงาน จะได้รับผลประโยชน์เพราะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ด้านหนึ่งอาจจะใช่ โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในกลุ่มบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องปรับโครงสร้างค่าแรงตามกฎหมาย แต่ด้านหนึ่งเมื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปไม่รอด ปิดกิจการ แรงงานที่อยู่ในภาคส่วนนี้ซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นกลับต้องตกงานแทน หรือไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการหัวใสก็ลดสวัสดิการ ตัดเงินช่วยเหลือ ฯลฯ เพื่อคุมรายจ่ายค่าจ้างไม่ให้เพิ่มขึ้นจากเดิม และไม่ผิดกฎหมายแรงงานด้วย

ภาพที่สะท้อนนโยบายปรับขึ้นค่าแรงนอกจากจะกลายเป็นข่าวรายวัน ซึ่งรายงานการปิดกิจการของธุรกิจต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคแล้ว ยังเห็นได้จากตัวเลขการเลิกกิจการในหลายธุรกิจในเดือนธันวาคม 2555 ก่อนที่นโยบายปรับขึ้นค่าแรงจะมีผล ซึ่งบ่งบอกแนวโน้มในอนาคตได้เป็นอย่างดี แม้ว่า “อำมาตย์เต้น” จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงก็ตาม

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศเดือน ธันวาคม 2555 มีจำนวน 3,838 ราย เพิ่มขึ้น 118% เทียบกับ พฤศจิกายน 2555 และเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับ ธันวาคม2554 โดยมีทุนนิติบุคคลเลิกมูลค่า 1.31 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% เทียบกับ พฤศจิกายน 2555 แต่ลดลง 62% เมื่อเทียบกับ ธันวาคม 2554 ส่งผลให้การจดทะเบียนเลิกทั้งปี 2555 (มกราคม-ธันวาคม) มีจำนวน 1.69 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2554 รวมทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเลิกทั้งปี 6.39 หมื่นล้านบาท ลดลง 28% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2554

“สาเหตุที่ธุรกิจปิดกิจการในเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายการขึ้นค่าแรงงาน 300 บาท เพราะนโยบายนี้เพิ่งเริ่มต้นครบทุกจังหวัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2556 ที่ผ่านมา และถือเป็นปกติของทุกปีที่ช่วงเดือนธันวาคมจะมีธุรกิจเลิกกิจการจำนวนมาก เพราะหากไปปิดกิจการเดือนมกราคม จะทำให้ธุรกิจยังต้องส่งงบการเงินอีก ส่วนใหญ่จึงเร่งปิดกิจการให้ทันในเดือน ธันวาคม”

ผลจากการตรวจสอบเชิงลึก พบว่า ในจำนวน 3,838 ราย สัดส่วน 58% ประสบปัญหาประกอบธุรกิจขาดทุนคิดเป็นจำนวน 2,229 ราย และในจำนวนนี้เป็นบริษัทที่ส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 1,726 ราย มีผลประกอบการขาดทุน 1,034 ราย และมีผลประกอบการกำไร 692 ราย ซึ่งเป็นการดูจากการส่งงบประมาณปี 2554 ที่ยังไม่มีเรื่องผลกระทบค่าแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนอีก 37% เป็นการปิดกิจการจากไม่ได้รับงานตามที่กำหนด และอีก 5% มีปัญหาขัดแย้งภายในองค์กร

ขณะที่นายณัฐวุฒิ และนายเผดิมชัย เน้นย้ำว่า เหตุที่มีกิจการปิดตัวลงไปไม่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท นั้น เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ กลับตอกย้ำถึงปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างจะแจ้ง

นายเกรียงศักดิ์ ปาลีคุปต์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ บอกว่า การปรับค่าแรงครั้งนี้สร้างปัญหาและความปั่นป่วนให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามต่างจังหวัดอย่างมาก อีกทั้งผู้ประกอบการยังสับสนกับมาตรการเยียวยาที่รัฐบาลออกมา

ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ บอกว่า จากการติดตามสถานการณ์การจ้างงานของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าส่งออกและสถานประกอบการที่ใช้แรงงานมาก พบว่า ล่าสุดโรงงานผลิตชุดชั้นในสตรีส่งออกของบริษัท บีม่า จำกัด ผู้ประกอบการชาวอินเดีย ตั้งอยู่ที่ อ.สังขะ ได้ปิดกิจการแล้ว 1 แห่ง และโรงงานผลิตชุดกีฬา ตั้งอยู่ อ.ลำดวน อีก 1 แห่ง ส่งผลให้พนักงานทั้ง 2 โรงงานต้องตกงานทันทีรวมกว่า 700 คน

นอกจากนี้ ยังมีโรงงานที่กำลังจะปิดกิจการอีก 2 แห่ง คือ โรงงานผลิตรองเท้าที่ อ.ลำดวน และโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ อ.ท่าตูม รวมพนักงานกว่า 500 คน ซึ่งผู้ประกอบการให้เหตุผลว่าประสบปัญหาการขาดทุนและแบกรับค่าจ้างแรงงานไม่ไหว จำเป็นต้องปิดกิจการดังกล่าว

สำหรับบริษัท บีม่า จำกัด ของผู้ประกอบการชาวอินเดียนั้น นายเกรียงศักดิ์ ระบุว่า ประกอบกิจการโรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งออก ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา, อ.เมืองนครราชสีมา, จ.ชัยภูมิ และ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ล่าสุดได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้ต้องปิดกิจการทั้ง 4 โรงงาน และเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดรวมกว่า 2,000 คน

ถึงที่สุดแล้ว มาตรการเยียวยาบรรเทาผลกระทบแบบเท่แต่กินไม่ได้ และคำปฏิเสธเสียงแข็งเลิกกิจการไม่เกี่ยวปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ซึ่งสวนทางกับความจริงอย่างเห็นได้ชัด ดูๆ ไปแล้วก็เหมือนกับคราวที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมรับว่าไม่มีปัญญารับมือกับปัญหาน้ำท่วม แถมยังคุยโม้อยู่ได้ว่า “เอาอยู่ค้า…” จนสุดท้ายพังพินาศกันทั้งประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น