xs
xsm
sm
md
lg

รัฐดิ้นพล่านช่วยคนตกงาน แฉซ้ำ!แรงงานต่างด้าวทะลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ไหนว่าไม่กระทบ กรมการจัดหางานตีแสกหน้านโยบายค่าแรง 300 จัดหน่วยเคลื่อนที่รับลงทะเบียนคนตกงาน เตรียม 1.2 แสนอัตราตำแหน่งงานรองรับ ด้านโรงงานทยอยปิดกิจการเพิ่ม ลอยแพพนักงานเป็นว่าเล่น พร้อมแฉแรงงานต่างด้าวทะลัก หวั่นเกิดปัญหาสังคม อาชญากรรม ปชป.อัดมาตรการเยียวยา แก้ไม่ตรงจุด จี้รัฐยอมรับความจริง เลิกสร้างภาพ

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด ว่า ขณะนี้ กรมฯ ได้ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดหน่วยเคลื่อนที่ออกไปยังพื้นที่ที่มีแรงงานถูกเลิกจ้าง เช่น นครปฐม สระบุรี บุรีรัมย์ เพื่อเปิดรับลงทะเบียนผู้ว่างงาน และจะแจ้งข้อมูลต่อไปยังสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้จ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เมื่อแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไปยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ได้จัดหาตำแหน่งงานรองรับให้แก่แรงงานที่มาลงทะเบียนผู้ว่างงานไว้ประมาณ 1.2 แสนอัตรา โดยจะจับคู่ตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของแรงงาน หากต้องการทำงานในพื้นที่เดิมก็จะจัดหาตำแหน่งงานในพื้นที่ แต่หากสมัครใจที่จะเคลื่อนย้ายไปทำงานจังหวัดอื่น ก็จะหาตำแหน่งงานจังหวัดอื่นรองรับ และถ้าต้องการเข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือให้สอดรับกับตำแหน่งงานใหม่ หรือเพื่อไปประกอบอาชีพอิสระ ก็จะประสานให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเข้ามาช่วยฝึกอบรมวิชาชีพตามที่แรงงานต้องการ

นายณรงค์ เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว ซึ่งจากเดิมแรงงานของจังหวัดได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 167 บาท เมื่อปรับเป็น 300 บาท เท่ากับปรับขึ้นราว 80% ส่งผลให้ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการบางส่วนแก้ปัญหาโดยลดจำนวนแรงงาน เพื่อควบคุมต้นทุนไม่ให้สูงขึ้น บางแห่งไม่สามารถแบกรับได้ก็ต้องปิดกิจการ ซึ่งล่าสุดมีโรงงานที่จำเป็นต้องปิดกิจการแล้วเมื่อเดือนธ.ค.2555 คือ โรงงานตัดเย็บชุดกีฬา ที่อ.โกสุมพิสัย พนักงานกว่า 2,000 คน และในอ.นาเชือก ซึ่งเป็นโรงงานสิ่งทอเช่นเดียวกัน ได้ทยอยลดพนักงานจาก 1,000 คน เหลือไม่ถึง 300 คน ซึ่งคาดว่าจะไม่สามารถปรับตัวรับค่าแรง 300 บาทได้แน่นอน และต้องปิดตัวในเร็วๆ นี้

นายเกรียงศักดิ์ ปาลีคุปต์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการยังสับสนกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ซึ่ง จ.สุรินทร์ เดิมค่าแรงขั้นต่ำวันละ 226 บาท ต้องปรับสูงขึ้นถึง 60% จึงส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการอย่างมาก โดยขณะนี้ โรงงานผลิตชุดชั้นในสตรีส่งออก บริษัท บีม่า จำกัด ของชาวอินเดีย ตั้งอยู่ที่อ.สังขะ ปิดกิจการแล้ว รวมทั้งโรงงานผลิตชุดกีฬา ตั้งอยู่อ.ลำดวน ส่งผลให้พนักงานตกงานทันทีกว่า 700 คน และยังมีที่กำลังจะปิดกิจการอีก 2 แห่ง คือ โรงงานผลิตรองเท้า ที่อ.ลำดวน และโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่อ.ท่าตูม พนักงานรวมกว่า 500 คน ซึ่งผู้ประกอบการให้เหตุผลว่าขาดทุน และแบกรับค่าแรงไม่ไหว

สำหรับบริษัท บีม่า จำกัด มีโรงงานผ 4 แห่ง คือ ที่ อ.โนนสูง อ.เมือง จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ และอ.สังขะ จ.สุรินทร์ ล่าสุดปิดกิจการทั้ง 4 โรงงาน เลิกจ้างพนักงานรวมกว่า 2,000 คน

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในจ.สุรินทร์ กำลังเกิดปัญหาแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาทะลักเข้ามาขายแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก ทั้งตามร้านอาหาร โรงสีข้าว โรงงานน้ำแข็ง และโรงงานต่าง เพราะค่าแรง 300 บาท ซึ่งเกรงว่าจะเกิดปัญหาอาชญากรรม สังคม และความมั่นคงตามมาอีก

วันเดียวกันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ประชุมคณะรัฐมนตรีเงา โดยนายอรรถวิช สุวรรณภักดี โฆษกครม.เงา แถลงภายหลังการประชุมว่า มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ เพราะทำให้ความได้เปรียบในการแข่งขันของจังหวัดต่างๆ หมดไป โรงงานก็จะย้ายไปอยู่ในพื้นที่ๆ ที่มีระบบการขนส่งที่ดีกว่า เพราะต้องจ่ายค่าแรงเท่ากัน ส่วนมาตรการที่รัฐบาลออกมา ก็เป็นเรื่องเก่า ไม่ได้เยียวยาตรงจุดให้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) จึงอยากให้มีการทบทวนใหม่

นายสรรเสริญ สมะลาภา รมช.คลังเงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มาตรการของรัฐบาลไม่ตรงจุดและไม่พอต่อการแก้ปัญหา เพราะมาตรการเก่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและไม่ได้ผลรวม 11 มาตรการ ส่วนมาตรการใหม่อีก 6 มาตรการที่เพิ่งออกมา ก็ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง มีเพียง 2 เรื่องเท่านั้นที่เป็นการชดเชยรายได้ให้ธุรกิจ SMEs คือ การนำส่วนต่างค่าแรงมาคูณ 1.5 เท่าเป็นค่าใช้จ่ายในการหักภาษี ซึ่งทอนตัวเลขออกมาแล้วได้นิดเดียว เช่น จ่ายเพิ่ม 100 จะหักภาษีได้ 30 บาทเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การงดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 1.5 แสนต่อปีเป็น 3 แสนต่อปี คำนวณแล้วจะกลับมาถึงภาคธุรกิจเพียง 110 บาทต่อวันทำงานเท่านั้น ที่จะนำมาชดเชยค่าจ้างแรงงานที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าส่วนต่างที่ได้รับกลับคืนจากมาตรการของรัฐ

"เป็นมาตรการแบบลูบหน้าปะจมูก เหมือนเด็กเล่นขายของ แก้ปัญหาไม่ตรงจุดและไม่เพียงพอ อีกทั้ง SMEs ที่จะได้ประโยชน์ คือ SMEs ที่มีกำไรเท่านั้น ส่วน SMEs ที่ไม่มีกำไร จะใช้มาตรการรัฐเข้าไปดูแลไม่ได้ เพราะไม่มีเงินไปเสียภาษีอยู่แล้วจึงไม่ได้ประโยชน์จากการชดเชยของรัฐบาล ซึ่งสุดท้ายก็ต้องเลิกกิจการไป"

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขอให้รัฐบาลยอมรับความจริงว่าผลกระทบได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งพรรคได้เตือนให้รัฐบาลเตรียมรับมือมาตั้งแต่ก่อนปีใหม่ แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยและไม่ใส่ใจที่จะแก้ปัญหา จึงอยากให้รัฐบาลหารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพราะมาตรการที่ออกมาเป็นแนวคิดเดิม เช่น การให้เงินกู้ หรือการหักค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ตรงกับการแก้ปัญหาให้กับธุรกิจขนาดเล็กที่ขาดทุน เพราะหากดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้ การให้กู้เงิน ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจะมีการปิดกิจการเกิดขึ้นก่อน เนื่องจากคำนวณเงินจากมาตรการที่รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือแล้วเทียบไม่ได้กับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ พรรคไม่ได้ขัดข้องที่จะให้มีการปรับค่าแรงให้ผู้ใช้แรงงาน เช่นเดียวกับนักธุรกิจที่ต้องการให้คนของตัวเองได้ค่าแรงสูงขึ้น แต่ธุรกิจก็ต้องอยู่รอดด้วย ไม่เช่นนั้นก็จ้างคนต่อไม่ได้ จะเห็นได้จากการปิดกิจการเกิดขึ้นแล้วในหลายจังหวัด รวมถึงมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาใกล้กรุงเทพฯ มากขึ้น และย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการจ้างงานในภาพรวม จึงอยากให้รัฐบาลใจกว้างและเร่งแก้ปัญหาก่อนที่จะกระทบไปถึงเศรษฐกิจในภาพรวม

"หากรัฐบาลอ้างว่าการปิดกิจการที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายค่าแรง 300 บาท ก็ต้องถามว่ามีมาตรการออกมาช่วยเหลือทำไม"นายอภิสิทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น