จับตาการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคบริการในเออีซี ปัจจุบันอยู่ในขั้น “การจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม” จุฬาฯ เสนองานวิจัยล่าสุด “เปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมือ-กึ่งฝีมือ” แนะทางแก้ปัญหาแรงงานไทย เผย 5 แนวทางดำเนินการขั้นต่อไป
จากการที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงแรงงาน ให้ดำเนินภารกิจเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐานฝีมือแรงงานไทย ให้มีมาตรฐานทัดเทียมเป็นที่ยอมรับของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะที่ปรึกษาและผู้ดำเนินการจัดกิจกรรม ได้จัดกิจกรรมภายใต้ “โครงการจัดทำแผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนมาตรฐานฝีมือแรงงานให้เป็นที่ยอมรับ (พ.ศ.2556-2558” โดยในงานนี้ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม รองผู้อำนวยการ ศูนย์อาเซียนศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายในหัวข้อ “กรณีศึกษาการเปิดเสรีการค้าภาคบริการ โอกาสและความอยู่รอดของแรงงานไทย”
เขากล่าวว่า การเปิดเสรีการค้าภาคบริการ ตามคำจำกัดความขององค์กรการค้าโลก (WTO 4 Modes of Supply) สามารถแบ่งการบริการออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
Mode 1 “การค้าบริการข้ามพรมแดน” ผู้ผลิตและผู้ซื้อบริการอยู่ที่ประเทศตนเอง เช่น การใช้บริการรักษาพยาบาลกับแพทย์ต่างชาติ ผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต ตั้งแต่การรักษาจนถึงการชำระค่าบริการ
Mode 2 “การบริโภคในต่างประเทศ” ผู้ซื้อเดินไปรับบริการที่ประเทศของผู้ผลิต เช่น การท่องเที่ยว การซื้อสินค้า และการใช้บริการต่างๆ เป็นต้น
Mode 3 “การให้บริการในต่างประเทศโดยการลงทุน” ผู้ผลิตเดินทางไปให้บริการโดยการลงทุนในประเทศของผู้ซื้อ เช่น การลงทุนทางธุรกิจที่สนใจ (จากตารางที่ 1 สัดส่วนการลงทุนในหุ้นของกิจการสำหรับคนต่างชาติ) จะเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา มีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของกิจการสำหรับคนต่างชาติที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนในปี 2015 ซึ่งยอมให้นักลงทุนในอาเซียนลงทุนได้ถึง 70% ของทุกภาคการบริการ แต่ปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่เปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้เกิน 50% เพราะกฎหมายเกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติของนักลงทุน (SBOs: Substantive Business Operations) ยังไม่เสร็จเรียบร้อย
Mode 4 “การให้บริการในต่างประเทศโดยการเคลื่อนย้ายผู้ให้บริการ” ผู้ผลิตเดินทางไปให้บริการในประเทศของผู้ซื้อและเดินทางกลับ เช่น แพทย์จากต่างประเทศเดินทางมาเช่าห้องผ่าตัดหรือสถานพยาบาลในเมืองไทยเพื่อทำการผ่าตัดให้กับผู้ป่วย เมื่อผ่าตัดเสร็จก็เดินทางกลับประเทศ เป็นต้น ลักษณะนี้เป็นการเคลื่อนย้ายตัวบุคคลซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ
สำหรับการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเสรีแรงงาน สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่คือ “การจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม” (Mutual Recognition Arrangements: MRAs) ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเปิดเสรีในอนาคต โดย MRAs เป็นการกำหนดคุณสมบัติหรือมาตรฐานทางวิชาชีพ ให้แรงงานที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดสามารถไปทำงานยังประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้ ทั้งนี้ MRAs เป็นเรื่องการรับรองคุณสมบัติเท่านั้น ไม่ได้รับประกันว่าบุคคลที่ได้รับการรับรองจะได้งานทำหรือได้รับวีซ่าในการเข้าไปทำงานในต่างประเทศ
ผู้รับผิดชอบในการทำ MRAs ได้แก่ สมาคม/สภาวิชาชีพต่างๆ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบัน MRAs จัดทำไปแล้ว 7+1 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถาปัตยกรรม วิศวกรรม นักบัญชี และนักสำรวจ
สำหรับ “+1” นั้น หมายถึง 32 วิชาชีพภายใต้ภาคบริการการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามในส่วนของภาคบริการจึงยังไม่มีผลบังคับใช้ ปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นผู้รับผิดชอบการกำหนดคุณสมบัติที่จำเป็นของแต่ละตำแหน่งงานและทดสอบคุณสมบัติเหล่านั้น เพื่อให้แรงงานฝีมือได้รับใบอนุญาต ซึ่งผู้ประกอบการการท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์จากการจ้างงาน ได้แก่
กลุ่ม Hotel Services ประกอบด้วย
1.1 Front Office - Front Manager, Front Supervisor, Receptionist, Tel. Operator, BELL BOY
1.2 House Keeping - Exec.House Keeper, Laundry Manager, Floor Supervisor, Laundry Attd., Room Attd., Public Area Cleaner
1.3 Feed Production - Exec.Chef, Demi Chef, Conmic Chef, Chef de Partie, Commis Pastry, Baker, Butcher
1.4 Food & Beverage - F&B Director, F&B Outlet Manager, Head waiter, Bartender, Waiter
และกลุ่ม Travel Services ประกอบด้วย
2.1 Travel Agencies - General Manager, Asst. GM., Senior Travel Consultant, Travel Consultant
2.2 Tour Operation - Product Manager, Sale & Marketing Manager, Credit Manager, Ticketing Manager, Tour Manager
ส่วนการเปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานกึ่งฝีมือ ปัจจุบันแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานกึ่งฝีมือมีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาโครงสร้างอายุแรงงานไทย และปัญหาค่าแรงขั้นต่ำที่สูงเกินไปสำหรับบางภาคการผลิตในอนาคต คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเสนองานวิจัยฉบับล่าสุดเกี่ยวกับ “การเปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานกึ่งฝีมือ (Free Flow Unskilled/Semi Skilled Labor)” ไปที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเปิดในลักษณะทวิภาคี และอาจจะมีการจำกัดพื้นที่หรือมีข้อกำหนดพิเศษสำหรับการทำงานในบางประเภท
ทั้งนี้ การที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะมุ่งเน้นเฉพาะแรงงานฝีมือเท่านั้น โดยยังไม่เปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานไร้ฝีมือ เนื่องจากยังติดประเด็น “เรื่องการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ” เช่น ถ้าชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็จะได้รับสิทธิ์และสวัสดิการเหมือนกับคนไทย จึงเกรงว่าอาจทำให้เกิดปัญหาการแย่งงานของแรงงานต่างชาติกับคนในประเทศตามทัศนคติเดิม แต่ในปัจจุบันสังคมและวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้น ทัศนคติเดิมเหล่านั้นจึงควรได้รับการปรับเปลี่ยนเช่นกัน อาทิ
• คนไทยยังไม่มีความพร้อม เมื่อเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน จะทำให้คนไทยตกงานเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ความจริงแล้วพบว่า ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนมากออกไปทำงานในระดับนานาชาติ
• ภาษาอังกฤษของคนไทยสู้ชาวต่างชาติไม่ได้ จะเสียเปรียบ แต่ในความเป็นจริงจะเห็นว่า คนไทยรุ่นใหม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นมาก
• ชาวต่างชาติจะเข้ามาแย่งงาน คนไทยจะตกงาน ทั้งที่ปัจจุบันชาวต่างชาติก็เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นปกติอยู่ก่อนแล้วผ่านกระบวนการออก Work Permit ของกระทรวงแรงงาน
• หากเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามา ประเทศไทยจะสูญเสียอัตลักษณ์ (ลักษณะเด่นเฉพาะตัว) ของชาติ ทั้งที่เพื่อเป็นการรับมือและเตรียมความพร้อมเราควรร่วมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC: The Next Step) ของประเทศไทยในขั้นต่อไป จะมีการดำเนินการ 5 เรื่อง ดังนี้คือ
เรื่องแรก การอำนวยความสะดวกในการตรวจลงตรา และใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพและแรงงานฝีมืออาเซียน ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้ามพรมแดน และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุน หน่วยงานที่รับผิดชอบได้แก่ กรมการจัดหางาน กรมการกงสุล และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
เรื่องที่สอง การพัฒนากรอบแผนงานมาตรฐานความสามารถและคุณสมบัติของงาน หรืออาชีพ และความชำนาญของผู้ฝึกอบรมในสาขาบริการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สมาคม/สภาวิชาชีพ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
เรื่องที่สาม การเสริมสร้างขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสนับสนุนความชำนาญ การเข้าทำงาน และพัฒนาเครือข่ายข้อมูลด้านตลาดแรงงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมการจัดหางาน
เรื่องที่สี่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย การส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสม เช่น การใช้แรงงานให้ถูกประเภท ไม่ใช้แรงงานเด็ก และการมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กับการเสริมสร้างทักษะในการประกอบการสำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน
และเรื่องที่ห้า ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน