“เอแบคโพลล์” เผย “ต่างชาติ” พอใจ ตม.ดอนเมือง หลังเปิดสัปดาห์แรก กว่าครึ่งมั่นใจมาตรการ รปภ. แต่ยังติทำงานอืด สวนทางชาวไทยให้คะแนนต่ำทุกด้าน ยกเว้นความรวดเร็วในการให้บริการ ด้าน “นพดล” แนะจัดเทรนด์ภาษา “อังกฤษ-จีน” ให้แน่น
วันนี้ (12 ต.ค.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะเพื่อกิจการอาเซียน (เอแบคโพลล์) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ ในหัวข้อเรื่อง สัปดาห์แรกของการให้บริการด่านตรวจคนเข้าเมือง (ดอนเมือง) ในสายตาคนไทย และชาวต่างชาติ โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 9-11 ต.ค.55 ที่ผ่านมา โดยใช้แบบสอบถาม 3 ภาษาคือ ภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ มีผู้ร่วมให้ข้อมูลทั้งชาวไทย และต่างชาติจำนวนทั้งสิ้น 608 ตัวอย่าง
นายนพดล กล่าวต่อว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 80.1 เป็นผู้มาใช้บริการที่เคาน์เตอร์ปกติ ในขณะที่ร้อยละ 19.9 เป็นผู้ใช้จุดบริการขอรับตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) เมื่อสอบถามถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.6 มาพักผ่อนท่องเที่ยว ร้อยละ 15.1 มาเยี่ยมญาติเยี่ยมเพื่อน ร้อยละ 14.3 มาติดต่อธุรกิจ ร้อยละ 7.5 เดินทางมาประชุมสัมมนา ร้อยละ 4.5 มาเรียน ติดต่อเรื่องการศึกษา และร้อยละ 10.5 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ชอปปิ้ง พาญาติมาพบแพทย์ เป็นต้น
เมื่อถามถึงประสบการณ์เข้ารับบริการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในประเด็นต่างๆ หลังจากเปิดให้บริการสนามบินดอนเมืองมาประมาณ 1 สัปดาห์ พบว่า ร้อยละ 53.2 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีบุคลิกภาพที่สง่างามมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 47.9 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองยิ้มแย้มแจ่มใสมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 46.8 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกระตือรือร้นมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 44.7 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเข้าใจในการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวผู้ใช้บริการมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 41.6 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพูดทักทายเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 41.6 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อการสกัดกั้นอาชญากรรมข้ามชาติ ณ ด่านดอนเมือง ร้อยละ 41.3 มีความสามารถมากถึงมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ร้อยละ 39.9 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อด่านอื่นๆ ตามแนวชายแดนไทยในการสกัดกั้นอาชญากรข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 39.3 ระบุใช้เวลานานถึงนานที่สุดในการให้บริการของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และร้อยละ 25.7 ระบุพบข้อผิดพลาดในการให้บริการ ตามลำดับ
นายนพดล ยังได้กล่าวถึงผลวิจัยที่น่าพิจารณาว่า เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ใช้บริการระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติ พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อาจกล่าวได้ว่า คนไทยพึงพอใจต่อการบริการของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต่ำกว่าชาวต่างชาติเกือบทุกตัวชี้วัด เช่น คนไทยไม่ถึงครึ่ง หรือร้อยละ 43.3 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีบุคลิกภาพสง่างามมากถึงมากที่สุด แต่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 64.3 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีบุคลิกภาพสง่างามมากถึงมากที่สุด รองลงมาคือ เพียงร้อยละ 39.2 ของคนไทยระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองยิ้มแย้มแจ่มใสมากถึงมากที่สุด แต่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 57.3 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองยิ้มแย้มแจ่มใสมากถึงมากที่สุด ในขณะที่คนไทยเพียงร้อยละ 37.6 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกระตือรือร้นในการให้บริการมากถึงมากที่สุด แต่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ร้อยละ 57.1 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกระตือรือร้นมากถึงมากที่สุด
เมื่อถามถึงการพูดคุยทักทายเป็นกันเอง พบว่า คนไทยเพียงร้อยละ 28.3 ที่ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทักทายเป็นกันเองมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 55.7 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทักทายเป็นกันเองมากถึงมากที่สุด นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พบว่า คนไทยร้อยละ 30.6 แต่ชาวต่างชาติเกินครึ่ง หรือร้อยละ 53.6 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้มากถึงมากที่สุด และเมื่อถามถึงความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกับผู้ใช้บริการ พบว่า คนไทยเพียงร้อยละ 38.1 ระบุมีความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกับผู้ใช้บริการมากถึงมากที่สุด แต่ชาวต่างชาติเกินครึ่ง หรือร้อยละ 51.2 ระบุมีความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกับผู้ใช้บริการมากถึงมากที่สุด
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบประเด็นที่น่าพิจารณาคือ คนไทยเพียงร้อยละ 33.7 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อการสกัดกั้นอาชญากรข้ามชาติของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านดอนเมือง ในขณะที่ชาวต่างชาติร้อยละ 50.5 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม คนไทยเพียงร้อยละ 30.7 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อด่านอื่นๆ ตามแนวชายแดนไทยในการสกัดกั้นอาชญากรข้ามชาติ ในขณะที่ชาวต่างชาติร้อยละ 49.8 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด แต่สิ่งที่น่าพิจารณาปรับปรุงอื่นๆ คือ ชาวต่างชาติร้อยละ 49.8 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองใช้เวลาให้บริการนานมากถึงมากที่สุด แต่คนไทยร้อยละ 25.0 ที่ระบุเจ้าหน้าที่ใช้เวลานานมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ชาวต่างชาติร้อยละ 44.1 ระบุพบข้อผิดพลาดมากถึงมากที่สุดในการให้บริการ แต่คนไทยมีเพียงร้อยละ 8.5 เท่านั้น
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการกลับมาเปิดให้บริการสนามบินดอนเมืองเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ณ สนามบินดอนเมืองมีข้อมูลทดสอบก่อนดำเนินกิจกรรมแทรก (intervention) เพื่อสร้างความประทับใจยกระดับความพึงพอใจในกลุ่มผู้ใช้บริการให้เพิ่มสูงขึ้น หลังจากนั้น คณะวิจัยจะมีการทดสอบหลังการดำเนินกิจกรรมแทรกในภารกิจการให้บริการของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านดอนเมืองอีกครั้งเพื่อทดสอบว่ามีความเปลี่ยนแปลงในด้านความพึงพอใจของผู้ใช้บริการมากน้อยเพียงไร โดยในครั้งนี้ คณะวิจัยเสนอให้มีกิจกรรมแทรกดังต่อไปนี้
ประการแรก เนื่องจากผู้ใช้บริการต่างชาติจำนวนมากพูดภาษาจีน และภาษาอังกฤษ จึงน่าจะจัดอบรมทำ workshop ภาษาจีน และภาษาอังกฤษให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสามารถกล่าวทักทายเบื้องต้น กล่าวคำว่า สวัสดี ขอบคุณ และถามคำถามบางคำถามที่สำคัญๆ ได้บ้าง และมีการทักทายกับประชาชนคนไทยที่เข้ามาใช้บริการด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสบ้างเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดี และรู้สึกผ่อนคลายให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ต้องทำหน้าที่ป้องกันปัญหาอาชญากรรมภายในประเทศเช่นกัน ดังนั้น คำถามที่ถามเบื้องต้น เช่น คุณจะพักอยู่ที่ไหน คุณมาทำอะไร เป็นภาษาจีน หรือภาษาอังกฤษ น่าจะทำให้สังเกตพฤติกรรม หรือความผิดปกติอะไรได้บ้าง และหากพบพิรุธก็สามารถแจ้งหัวหน้าระดับสูงเพื่อพูดคุยกับผู้มาใช้บริการอย่างลึกซึ้งต่อไป
ประการที่สอง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติมเพื่อทำให้เกิดความรวดเร็ว และเสริมสร้างความมั่นคงสกัดกั้นอาชญากรข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ประการที่สาม น่าจะมีกิจกรรมสาระบันเทิงร่วมกันระหว่างผู้ใช้บริการกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะผู้ใช้บริการคนไทย และผู้ใช้บริการขาออกเพราะผลวิจัยครั้งนี้พบว่า เป็นกลุ่มคนที่มีความพึงพอใจต่ำกว่าผู้ใช้บริการกลุ่มอื่นๆ โดยกลุ่มผู้โดยสารขาออกที่อาจจะพอมีเวลาระหว่างรอขึ้นเครื่องบินออกไปจากประเทศไทยจะได้เกิดความประทับใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศไทย และกลับมาท่องเที่ยวเมืองไทยอีก นำมาซึ่งรายได้ของคนไทย และความเจริญทางเศรษฐกิจโดยรวม
ประการที่สี่ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองคงต้องมีผลงานจับกุมอาชญากรข้ามชาติให้มากขึ้น และที่น่าจะสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในหมู่ประชาชนได้ดีคือ ความสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ตั้งแต่ขั้นตอนของการวางแผน เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการข่าวในการทำหน้าที่อีกภารกิจหนึ่งของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองด้านความมั่นคงของประเทศต่อไป