ที่ประชุม ครม.มีมติผ่อนผันแรงงานต่างด้าว “พม่า-ลาว-กัมพูชา” หลบหนีเข้าเมือง เป็นกรณีพิเศษ 120 วัน พร้อมจัดตั้งศูนย์วันสตอปเซอร์วิสสำหรับนายจ้าง และเข้าระบบประกันสังคม อีกด้านหนึ่งขยายกรอบดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกแก่คนต่างด้าวที่เข้ามาฟื้นฟูโรงงาน และลงนามเอ็มโอยูขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามแดน ณ จุดผ่านแดน
วันนี้ (15 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทยอยู่แล้ว รวมทั้งบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่กิน 15 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเป็นเวลา 120 วัน เพื่อดำเนินการให้ได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) จากประเทศต้นทาง และได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอนุญาตให้ทำงานเฉพาะกับนายจ้างเดิมต่อไป โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตามมติ กบร.ทันที
โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการออกประกาศผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทยอยู่แล้ว รวมทั้งบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเป็นเวลา 120 วัน โดยแรงงานต่างด้าวที่ได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) สามารถใช้หลักฐานดังกล่าว เพื่อขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant-LA) และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นเวลา 2 ปี และสามารถขออยู่ในราชอาณาจักรได้อีกครั้งเดียว โดยระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และสามารถทำงานเป็นกรรมกรหรือรับจ้างทำงานด้วยกำลังกายได้
ทั้งนี้ ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราให้แก่บุตรของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่อายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) ในอัตรา 500 บาท และสามารถขออยู่ต่อได้อีกครั้งเดียว และให้มีผลใช้บังคับในระยะเวลาที่เท่ากับบิดา มารดา
ส่วนกระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการรับตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร ตามที่นายจ้างได้ยื่นคำร้องขอจ้างแรงงานต่างด้าวไว้กับกรมการจัดหางาน และรับประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม รวมทั้งรับประกันสุขภาพผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว
นอกจากนี้ กรมการจัดหางานจะต้องดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว โดยจะต้องเตรียมการเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ภายใน 30 วัน ทั้งนี้นายจ้างจะต้องรับแบบคำร้องขอจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมบัญชีรายชื่อ แบบคำร้องขอนำเข้าแรงงานต่างด้าว Demand Letter พร้อมใบโควตา สัญญาจ้าง และหลักฐานอื่นๆ ตามที่กรมการจัดหางานกำหนด ภายใน 1 เดือน และส่งให้ประเทศต้นทางเพื่อดำเนินการต่อไป ในกรณีแรงงานต่างด้าวไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ ให้ยกเลิกการอนุญาต คืนเงินค่าธรรมเนียม และแจ้งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
ส่วนสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในลักษณะเช่นเดียวกับแรงงานที่เป็นคนไทย โดยให้เลือกซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข หรือประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเอกชน
โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะผ่อนผันให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าวซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการผ่อนผัน ทั้งนี้จะดำเนินการตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันแรงงานต่างด้าวรายใหม่ลักลอบเข้ามาทำงาน รวมทั้งนายจ้างที่ลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าว ผู้นำพา และผู้ให้ที่พักพิงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
นพ.ทศพรยังกล่าวอีกว่า ครม.มีมติอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าต้องใช้งบประมานกว่า 200 ล้านบาทต่อปีในการรักษาพยาบาลให้กับแรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบประกันสังคมและเข้ามารับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ นโยบายรัฐบาลด้านแรงงานเกี่ยวกับการให้การคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายนั้น ได้ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการทำงานและสวัสดิการแรงงาน และดูแลหลักประกันความมั่นคงในการทำงานแก่ผู้ใช้แรงงาน การปรับปรุงแนวทางการขยายความคุ้มครอง และส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและเห็นประโยชน์ในการประกันตนของแรงงานนอกระบบรวมทั้งการเตรียมการรองรับการเปิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 โดยเน้นระบบบริหารจัดการเพื่อจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ จัดระบบอำนวยความสะดวก และมาตรการการกำกับดูแล ติดตามการเข้าออกของแรงงานทุกประเภท กระทรวงสาธารณะสุขจึงเห็นความจำเป็นของการจัดการดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ และสามารถป้องกันควบคุมโรคที่มากับแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติการขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ (17 เมษายน 2555) ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 2. อนุมัติการขยายระยะเวลายกเว้นใบอนุญาตทำงานของกระทรวงแรงงานสำหรับคนต่างด้าวที่เดินทางช่วยเหลือฟื้นฟูโรงงานและสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556
อีกด้านหนึ่ง ที่ประชุมอนุมัติการลงนามบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่า ด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามแดน ณ จุดผ่านแดน เชียงของ ราชอาณาจักรไทย และห้วยทราย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจุดผ่านแดน บ่อเต็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และโมฮาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และนำเสนอร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่มีการลงนาม และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ ที่มิใช่สาระสำคัญ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมาย เป็นผู้ใช้ดุลพินิจในเรื่องนั้นๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจาณาอีกครั้ง และให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการต่อไปได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวแล้ว
ขณะเดียวกัน มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมาย ลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว และให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการต่อไปได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวแล้ว