xs
xsm
sm
md
lg

พม่าขอไทยผ่อนผันให้ รง.พม่ากว่า 3 หมื่นคนได้สิทธิทำงานต่อชั่วคราวหลังครบ 4 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัด รง.หารือ รมต.แรงงานพม่า วอนไทยผ่อนผันแรงงานพม่า 3 หมื่นคนที่ทำงานครบกำหนด 4 ปี ทำงานต่อได้ชั่วคราวระหว่างทำเรื่องขึ้นทะเบียนต่ออายุงาน ชง ครม.ในเดือน พ.ย.นี้ เตรียมขึ้นทะเบียนต่อใบอนุญาตในปลายเดือน ธ.ค.นี้

วันนี้ (20 พ.ย.)นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า ตน และนายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้หารือกับนายอู อาย มินท์ (U Aye Myint) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพม่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการแรงงานต่างด้าวพม่าที่ทำงานอยู่ในราชอาณาจักรไทยครบ 4 ปี ให้สามารถทำงานต่อได้โดยไม่ต้องกลับประเทศ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ออกประกาศผ่อนผันให้แรงงานพม่ากลุ่มนี้อาศัยและทำงานอยู่ในไทยได้ชั่วคราว เพื่อให้แรงงานพม่าที่ทำงานอยู่ในไทยครบ 4 ปี ไปดำเนินการขึ้นทะเบียนต่ออายุใบอนุญาตทำงานเพื่อเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ที่ศูนย์บริการวัน สตอป เซอร์วิส จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จ.เชียงราย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดระนอง และด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณา ครม.ในวันที่ 26 พ.ย.นี้ หลังจากนั้นในปลายเดือน ธ.ค.นี้ จะเริ่มดำเนินการขึ้นทะเบียนต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดี กกจ.กล่าวว่า แรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยครบ 4 ปี มีทั้งหมดประมาณ 3 หมื่นคน ซึ่ง กกจ.จะให้แรงงานพม่ากลุ่มนี้สามารถทำงานอยู่ในไทยได้ต่อไปโดยไม่ต้องกลับประเทศขณะที่ยังไม่ได้ออกเอกสารรับรอง โดยแรงงานพม่าจะต้องกรอกแบบ ทร.38/1 และเมื่อผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว จึงจะไปรับเอกสารรับรองได้ที่ศูนย์วันสตอป เซอร์วิสทั้ง 5 แห่ง

อธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการตรวจลงตราวีซ่าให้แก่บุตรแรงงานต่างด้าวนั้น ขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงเห็นว่า หากมีการตรวจลงตราให้กลุ่มคนเหล่านี้ จะทำให้มีเด็กแรงงานต่างด้าวหลั่งไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบเช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งจะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ก่อนที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
 

กำลังโหลดความคิดเห็น