อธิบดี กกจ.แจงไทย-พม่า คุยข้อตกลงดูแลแรงงานพม่าได้ข้อยุติด้วยดีมาตลอด เผยบินเจรจา 11 ต.ค.นี้ ปรับเอ็มโอยู-ระเบียบเกี่ยวข้อง หากแรงงานพม่าทำงานในไทยครบ 4 ปี กลับประเทศไปแล้วไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 1 เดือน ถ้าได้เอกสารรับรองแล้วสามารถกลับเข้ามาไทยได้ทันที
วันนี้ (2 ต.ค.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่หนังสือพิมพ์เมียนมาร์ ไทม์ ของประเทศพม่า รายงานข่าวความเคลื่อนไหวการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและพม่า เพื่อขอให้แรงงานชาวพม่าที่มีวีซ่าครบ 4 ปี กลับออกจากประเทศและเข้าทำงานกับนายจ้างเดิม โดยไม่ต้องรอให้ครบ 1 เดือน ซึ่งการที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติแน่นอนได้ ทำให้เกิดความระส่ำระส่ายในแวดวงแรงงานต่างด้าวของไทยว่า ที่ผ่านมาการเจรจาระหว่างไทยกับพม่าในเรื่องการต่อวีซ่าเป็นไปด้วยดี และมีข้อยุติร่วมกันว่าเมื่อแรงงานชาวพม่าทำงานครบ 4 ปีแล้ว ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อทำเอกสารให้แล้วเสร็จ เป็นเวลา 1 เดือน
ทั้งนี้ เมื่อบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ครบกำหนดรัฐบาลไทยกับพม่าจะต้องมีการหารือกัน เพื่อทำเอ็มโอยูฉบับใหม่ โดยในวันที่ 11 ตุลาคมนี้จะเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลพม่า เพื่อขอให้แก้ไขบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับเปลี่ยนระเบียบการเดินทางกลับไปดำเนินการออกเอกสาร ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาการดำเนินการของแต่ละประเทศโดยไม่จำเป็นต้องครบ 1 เดือน รวมทั้งให้ส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการในศูนย์ทั้ง 4 แห่งที่เตรียมไว้คือ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จังหวัดระนอง และจังหวัดกาญจนบุรี เพื่ออำนวยความสะดวกในการออกเอกสารให้แรงงานต่างด้าวที่มีพาสปอร์ต
อธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า ส่วนแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองมาทำงานในไทยอย่างผิดกฎหมายและไม่มีพาสปอร์ต จะต้องเดินทางกลับไปทำเอกสารที่ประเทศต้นทาง และจะกลับเข้ามาทำงานในไทยก็ต่อเมื่อมีความต้องการใช้แรงงาน โดยจะนำเข้าผ่านเอ็มโอยูแบบรัฐต่อรัฐ ส่วนแรงงานกัมพูชาและลาวนั้น รัฐบาลของทั้งสองประเทศไม่ส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการออกเอกสารรับรองสถานะให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่นายจ้างยังมีความต้องการใช้แรงงานทั้งสองประเทศอยู่ ทาง กกจ.จะใช้วิธีออกใบ ทร.38/1 เพื่อผ่อนผันให้ทำงานในไทยชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งต้องต่ออายุไปจนกว่านายจ้างจะเลิกจ้าง