xs
xsm
sm
md
lg

แจงนายจ้างยึดพาสปอร์ตแรงงานต่างด้าวทำได้ แต่ต้องดูเป็นกรณี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอาทิตย์ อิสโม
อธิบดี กสร.แจงนายจ้างยึดพาสปอร์ตแรงงานต่างด้าวต้องดูเหตุผลเป็นรายกรณี หากจงใจยึดเตือนก่อน หากทำผิดซ้ำเอาผิดตามกฎหมาย ด้านอธิบดี กกจ.เผยคุมเข้มเก็บค่าใช้จ่ายไปทำงานต่างประเทศ เรียกค่าบริการไม่เกิน 1 เดือน ค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง ชี้ดำเนินคดีอาญาได้ต่อเมื่อบริษัทจัดหางานหลอกลวงเก็บเงินแล้วไม่ยอมส่งไป

วันนี้ (7 ส.ค.) นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวถึงกรณีที่ นายหลุยส์ ซี ดีเบกา ผู้แทนเอกอัครราชทูตประจำสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา แสดงความเป็นห่วงกรณีนายจ้างยึดพาสปอร์ต และหักเงินเดือนแรงงานต่างด้าวเพื่อเป็นค่านายหน้าในการเข้ามาทำงานในประเทศไทย รวมทั้งตั้งข้อสังเกตการลงโทษทางกฎหมายกับนายจ้างที่กระทำผิดเรื่องการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างล่าช้าและไม่เข้มงวดแนะนำให้ประสานกับตำรวจเข้ามาช่วยตรวจสอบและจับกุมว่า กรณีนายจ้างยึดพาสปอร์ตแรงงานต่างด้าวนั้น ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป โดยดูถึงเจตนา เนื่องจากบางกรณีผู้ประกอบการด้านประมงเกรงว่าลูกจ้างลงเรือประมงออกไปหาปลาในทะเลแล้วจะทำพาสปอร์ตหาย ก็เก็บเอาไว้ให้ หรือบางกรณีเป็นการรวบรวมพาสปอร์ตของลูกจ้างไว้เพื่อนำไปยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนลูกจ้างกับกระทรวงแรงงานเพื่อให้เป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างมีเจตนาจงใจเก็บพาสปอร์ตลูกจ้างต่างด้าวไว้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานจะตักเตือน และทำความเข้าใจไม่ให้มีการยึดพาสปอร์ต แต่ถ้าตรวจแล้วพบว่ายังกระทำอีก ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนกรณีการหักเงินเดือนเพื่อเป็นค่านายหน้านั้นนายจ้างไม่สามารถกระทำได้ เพราะผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

“ข้อแนะนำของผู้แทนอเมริกาที่ให้นำตำรวจเข้ามาร่วมดำเนินการตรวจสอบและจับกุมนายจ้างที่กระทำผิดเนื่องจากค้ามนุษย์นั้น ปัจจุบัน กสร.ได้ทำงานร่วมกับตำรวจอยู่แล้ว เมื่อพนักงานตรวจแรงงานเข้าไปตรวจตามสถานประกอบการต่างๆ หากพบว่านายจ้างมีการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (ปคม.) เข้ามาสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมทั้งได้ให้ตำรวจเข้ามาเป็นกรรมการดูแลศูนย์ประสานแรงงานประมงใน 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร สงขลา ระนอง และสตูล ด้วย เพื่อให้การดูแลแรงงานต่างด้าวด้านประมงเป็นไปตามกฎหมายและป้องกันการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศูนย์ทั้ง 7 แห่งเพิ่งเริ่มจัดตั้งขึ้น จึงยังไม่เห็นผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรม” อธิบดี กสร.กล่าว

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กกจ.ได้มีการชี้แจงและควบคุมดูแลให้บริษัทจัดหางาน ซึ่งจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางาน พ.ศ.2547 อย่างเข้มงวด โดยกำหนดให้สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ 1 เท่าของเงินเดือน และให้เก็บค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงโดยมีเอกสารและหลักฐานยืนยันชัดเจน หากพบว่าบริษัทจัดหางานใดกระทำผิดเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงเกินความเป็นจริง ก็จะลงโทษด้วยการพักใช้ใบอนุญาตชั่วคราวถ้ากระทำผิดซ้ำอีกจะเพิกถอนใบอนุญาต

การที่บริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงเกินจริงนั้นไม่เข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายอาญา ถ้าเข้าข่ายต้องเป็นกรณีบริษัทจัดหางานเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายไปแล้ว แต่ไม่ยอมจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศก็เป็นหลอกลวงแรงงาน หากบริษัทจัดหางานกระทำผิดเช่นนี้ นอกจาก กกจ.จะเอาผิดตามกฎหมายแรงงานแล้ว ก็จะประสานตำรวจให้สอบสวนและเอาผิดตามกฎหมายอาญาด้วย” อธิบดี กกจ.กล่าว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น