xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจใต้ขาดแคลนแรงงานหนัก! แต่คนไทยยังแอบไปทำงานเถื่อนที่มาเลย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สกว.เปิดเวทีถกประเด็น “AEC จะมา... แรงงานไทยจะอยู่ที่ไหน?” พบแรงงานไทยในภาคใต้นิยมเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียแบบผิดกฎหมาย ขณะที่สถานประกอบการในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก จี้สถานศึกษาผลิตบุคลากรรองรับตลาดแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถด้านภาษาอาเซียน

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (6 ส.ค.) ที่ห้องประชุม 1 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สำนักประสานงานชุดโครงการ “การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง” สังกัดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดการประชุมเพื่อระดมสมอง หัวข้อ “AEC จะมา... แรงงานไทยจะอยู่ที่ไหน?” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับแรงงานในประเทศไทย โดยมีตัวแทนสถานศึกษา มหาวิทยาลัย นักวิชาการ สมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วม

 
โดย สกว. เปิดเผยข้อมูลว่า เมื่อพิจารณาในแง่ของกำลังแรงงานพบว่า อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีกำลังแรงงานขนาดใหญ่ตามลำดับ ส่วนไทยมีกำลังแรงงานใหญ่เป็นอันดับ 4 ในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ หากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 อาจทำให้เกิดการหมุนเวียนแรงงานเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย คือ ต้องหาแรงงานอื่นมาทดแทนแรงงานพม่าที่จะกลับประเทศ หรือย้ายไปทำงานที่อื่น ซึ่งได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า

ส่วนแรงงานคนไทยนั้นพบว่า ในปีที่ผ่านๆ มา มีแรงงานชาวไทยไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียจำนวนมาก ทั้งในส่วนของร้านอาหารที่รู้จักกันในนาม “ร้านต้มยำ” แรงงานภาคเกษตร เช่น ทำนา กรีดยางพารา แรงงานตามฤดูกาลเก็บเกี่ยว เช่น คนงานในไร่อ้อย แรงงานภาคบริการ เช่น นวดสปา เป็นต้น ซึ่งนอกจากแรงงานในภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภคใต้แล้ว ยังมีแรงงานจากภาคอื่นๆ เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน ด้วย โดยส่วนใหญ่มักเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมาย คือ ไม่ผ่านสำนักงานจัดหางาน และไม่มีใบอนุญาตทำงานในต่างประเทศ

 
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียมักจะใช้เอกสารการเดินทางแบบบัตรผ่านแดน หรือบอร์เดอร์พาส (Border Pass) ซึ่งออกให้เฉพาะบุคคลสัญชาติไทยที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ชายแดน เพื่อใช้ในการเดินทางข้ามแดนระหว่าง 2 ประเทศ โดยอนุญาตให้เดินทางข้ามเขตได้เฉพาะรัฐ หรือจังหวัดที่มีชายแดนติดกันในระยะเวลา 3 เดือน หรือ 6 เดือนเท่านั้น แต่ก็ยังมีแรงงานไทยบางส่วนลักลอบเข้าไปทำงานนอกพื้นที่อนุญาต ซึ่งผิดกฎหมาย โดยผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วนให้ความเห็นว่า เนื่องจากทำบอร์เดอร์พาสนั้นทำได้ง่ายกว่า ค่าใช้จ่ายถูกกว่า และผ่านแดนได้ง่ายกว่าการใช้พาสปอร์ต ซึ่งในส่วนนี้ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรทบทวนว่าจะจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้แรงงานให้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ อย่างถูกกฎหมาย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา ยังระบุด้วยว่า การผ่านแดนโดยใช้บอร์เดอร์พาสนั้นไม่สามารถตรวจสอบบุคคลต้องสงสัยตามหมายจับของทางการ หรือบุคคลต้องสงสัยในคดีความมั่นคงของประเทศได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นต้นสังกัดในการออกบอร์เดอร์พาส ตรวจสอบเลขบัตรประชาชนของผู้ที่จะเดินทางก่อนออกเอกสารให้

 
ขณะเดียวกัน มีผู้กระกอบการใน จ.สงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจเอกชนใน จ.สงขลา กำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ทั้งในส่วนของแรงงานทักษะ และแรงงานไร้ทักษะ ซึ่งควรมีการร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษา และสถานประกอบการ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนะว่าตัวแรงงานเองก็ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวเอง ทั้งการฝึกทักษะด้านภาษาเพิ่มเติม หรือการพัฒนาฝีมือของตนให้อยู่ในระดับดีเลิศ และในส่วนของนายจ้างเองก็ต้องจัดการอบรมเพิ่มเติมความรู้ให้แก่พนักงานด้วย

สำหรับภาคธุรกิจในส่วนของ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยังต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษามลายู เป็นสำคัญ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ เดินทางเข้ามาจับจ่ายซื้อของในเมืองหาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนมากกว่านักท่องเที่ยวชาวไทยด้วยซ้ำ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น