xs
xsm
sm
md
lg

ประมงจี้รัฐเร่งนำเข้าแรงงานบังกลาเทศ กกจ.เผยรอสรุปร่างเอ็มโอยูคาดชง ครม.เดือน ก.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานสมาคมประมงแนะรัฐเร่งนำเข้าแรงงานบังกลาเทศ 5 หมื่นคน แก้ขาดแคลนแรงงาน หวั่นหลังเปิดเออีซีมีปัญหาขาดแคลนหนักขึ้น ชี้นายจ้างถูกหลอก แรงงานหลบหนี อธิบดี กกจ.คาดเดือน ก.ย.นี้เสนอ รมว.แรงงาน ชงเอ็มโอยูเข้า ครม.ได้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

วันนี้ (1 ส.ค.) นายภูเบศ จันทนิมิ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในภาคประมงว่า ขณะนี้แรงงานภาคประมงขาดแคลนเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว เพราะคนไทยไม่นิยมทำงานประเภทนี้ โดยก่อนหน้านี้สมาคมฯได้หารือกับสมาชิกทั่วประเทศ และยื่นความจำนงต่อกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้นำเข้าแรงงานจากประเทศบังกลาเทศ เพื่อมาทำงานด้านประมงจำนวน 5 หมื่นคน เพราะเชื่อว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านประมงได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จึงอยากให้ กกจ.เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ นอกจากนี้ สมาคมฯยังได้เข้าพูดคุยกับเอกอัครราชทูตของบังกลาเทศเพื่อหารือถึงเรื่องนี้ด้วยโดยเสนอจะไปตั้งศูนย์อบรมแรงงานด้านประมงที่บังกลาเทศ เพื่อให้มีความเข้าใจในสภาพการทำงานและการใช้ชีวิต รวมทั้งสัญญาจ้าง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความมั่นใจว่าแรงงานจากบังกลาเทศจะเข้ามาทำงานด้านประมงตามที่แจ้งเท่านั้น

นายภูเบศ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2554 ใน 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร สงขลา ระนอง และสตูล นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่ตั้งของศูนย์ฯว่าจะจัดตั้งที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสมาคมการประมงในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ ตนคิดว่าควรจัดตั้งที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดจะเหมาะสมมากกว่าเพราะเป็นหน่วยงานราชการที่สามารถประสานกับทุกสถานประกอบการได้ ส่วนสมาคมการประมงแต่ละจังหวัดนั้นควรใช้เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลของผู้ประกอบการประมงและแรงงาน 
อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกฝ่ายเร่งหาข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการรองรับการนำเข้าแรงงานบังกลาเทศ โดยขณะนี้สมาคมฯ กำลังดำเนินการขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้างในแต่ละจังหวัดเพื่อรวบรวมข้อมูลว่าในแต่ละจังหวัดมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเท่าใด หลังจากนั้นจะส่งต่อข้อมูลนี้ไปยังศูนย์ฯทั้ง 7 แห่ง

ที่ผ่านมา มีนายจ้างบางรายถูกลูกจ้างหลอก เนื่องจากความต้องการแรงงาน เช่น ลูกจ้างขอเบิกเงินล่วงหน้า แต่เมื่อลงเรือไปทำงานกลับหลบหนีไปทำงานกับเรือลำอื่น รวมทั้งมีปัญหาจากนายหน้าจัดหาแรงงานซึ่งพาแรงงานที่จัดหามาได้ไปทำงานที่อื่น ส่งผลกระทบต่อการออกเรือของผู้ประกอบการ จึงอยากให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบริหารแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบและขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติทั้งพม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาอยู่ในไทยทั้งหมดประมาณ 5 ล้านคนทั้งที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายและลักลอบเข้าเมือง หากเป็นไปได้ก็อยากให้มีการเปิดขึ้นทะเบียนตลอดทั้งปี รวมทั้งเตรียมนำเข้าแรงงานต่างด้าวชาติอื่นมารองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เพราะแรงงานต่างด้าวอาจไหลกลับประเทศได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน” นายภูเบศ กล่าว

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ขณะนี้ร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ที่กระทรวงแรงงานจะลงนามกับประเทศบังกลาเทศได้ผ่านการพิจารณาจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แล้ว ทั้งนี้ กกจ.ได้ส่งกลับไปยังบังกลาเทศให้พิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะส่งกลับมายังกระทรวงแรงงาน เร็วๆ นี้ หลังจากนั้น กกจ.จะนำร่างเอ็มโอยูดังกล่าวเสนอต่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) ให้พิจารณาเพื่อนำเข้า ครม.คาดว่าไม่เกินเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นกระทรวงแรงงานจะลงนามเอ็มโอยูกับบังกลาเทศ และเปิดให้ผู้ประกอบการประมงยื่นขอโควตาแรงงานบังกลาเทศต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น