กกจ.เดินหน้าแก้ระเบียบเก็บค่าบริการ-ค่าใช้จ่ายไปทำงานต่างประเทศ เน้นให้เก็บค่าบริการได้ 1 เดือนของเงินเดือน ค่าใช้จ่ายตามจริง เล็งแนบท้ายค่าใช้จ่าย-เงินเดือนแต่ละประเทศป้องกันเก็บเงินเกินจริง คาดร่างแก้ไขระเบียบแล้วเสร็จในปีนี้แล้วส่งให้คณะ กก.กฎหมาย-รมว.แรงงาน พิจารณา
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า กกจ.กำลังแก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางาน พ.ศ.2547 ซึ่งเนื้อหาหลักจะกำหนดให้บริษัทจัดหางานสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ 1 เท่าของเงินเดือน และให้เก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามความเป็นจริง ซึ่งจะมีการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับรายการค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเงินเดือนของแต่ละประเทศ โดยแยกเป็นกลุ่มประเทศ เช่น เอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ขณะนี้ กกจ.ได้ประสานขอข้อมูลเหล่านี้ไปยังสำนักบริหารแรงงานไทยในต่างประเทศใน 13 ประเทศของกระทรวงแรงงาน และสถานทูตไทยในประเทศต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลเหล่านี้นำมาแนบท้ายในร่างแก้ไขระเบียบข้างต้นเพื่อให้บริษัทจัดหางานและแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศได้ทราบว่าแต่ละประเทศมีรายการค่าใช้จ่ายอะไรบ้างและเงินเดือนเท่าไหร่ รวมทั้งต้องมีเอกสารและหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายรับทราบและยินยอมเพื่อป้องกันการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินความเป็นจริง
“ก่อนหน้านี้ กกจ.ได้จัดทำร่างแก้ไขระเบียบเสร็จแล้วและได้เสนอต่อ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ อดีต รมว.แรงงาน แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบ เพราะอดีต รมว.แรงงาน ได้ให้กลับมาแก้ไขระเบียบให้เนื้อหามีความละเอียดและรัดกุมมากขึ้น กกจ.จึงกำลังแก้ไขระเบียบใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละประเทศจะไม่เท่ากัน เพราะมีรายละเอียดรายการที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างกัน แต่โดยภาพรวมของการไปทำงานต่างประเทศมีรายการค่าใช้จ่ายหลักๆ คือ ค่าวีซ่า ค่าขอใบอนุญาตทำงาน ค่าตรวจโรค ค่าประกันชีวิต บางประเทศ เช่น อิสราเอลมีค่าดูแลคนงานไทย เมื่อ กกจ.ได้ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานไทยในต่างประเทศ 13 ประเทศ และสถานทูตไทยในแต่ละประเทศมาแล้ว จะเร่งแก้ไขระเบียบแล้วคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกระทรวง หากผ่านความเห็นชอบก็เสนอ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) ต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้อมูลแต่ละประเทศจะมีรายการค่าใช้จ่ายอะไรบ้างและเงินเดือนเท่าไหร่ ซึ่งแนบท้ายระเบียบที่แก้ไขนั้นจะต้องมีการปรับปรุงข้อมูลเป็นระยะเพื่อให้มีความทันสมัย” อธิบดี กกจ.กล่าว
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กกจ.ได้ให้บริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศ โดยให้เรียกเก็บค่าบริการได้ 1 เท่าของค่าจ้างรายเดือนในเดือนแรก นอกจากนี้ ก็ให้เก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามความเป็นจริงโดยเก็บได้สูงสุดเกิน 2 เท่าของค่าจ้างรายเดือน ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่าบริษัทจัดหางานใดกระทำผิดเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่กำหนด ก็จะลงโทษโดยพักใช้ใบอนุญาตชั่วคราวต่ำสุด 30 วัน และสูงสุดไม่เกิน 120 วัน ถ้ากระทำผิดซ้ำอีกจะเพิกถอนใบอนุญาต