xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงานเร่งประสานช่วยเหลือ 4 แรงงานไทยที่ไนจีเรีย สั่งกำชับ กกจ.เข้มงวดการทำสัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกจ.แจง แรงงานไทย 4 คน ที่ถูกจับเรียกค่าไถเดินทางไปโดยไม่ผ่าน ช่องทางทั้ง5 ที่กฎหมายกำหนด ล่าสุด รง.ทำหนังสือถึง กต. พม.และนายจ้างต่างประเทศให้ช่วยดูเเล
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (13 ส.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีแรงงานไทย 4 คนในไนจีเรีย ที่ถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่ ได้แก่ นายสมโชค พันพินิจ อายุ 55 ปี, นายธนาวุฒิ พันพินิจ อายุ 50 ปี (น้องชายของนายสมโชค), นางบุษยา ศรีปัญญา อายุ 46 ปี (ภรรยานายสมโชค), นายไชยยันต์ ไทชมพู อายุ 38 ปี ชาวอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี โดยทั้ง 4 คนเดินทางไปทำงานที่ไนจีเรีย โดยไม่ได้ผ่าน 5 ช่องทางตามที่กฎหมายกำหนด คือ 1.นายจ้างจ้างโดยตรง 2.นายจ้างรับไปฝึกงาน 3.บริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 4.ไปทำงานผ่านระบบข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) 5.เดินทางไปทำงานเอง โดยแจ้งขี้นทะเบียนต่อกระทรวงแรงงาน โดยทั้ง 5 ช่องทางนี้จะได้รับการคุ้มครองจากกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ แต่ทั้ง 4 คนนี้เดินทางไป โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยวและเข้าไปทำงาน โดยเป็นการทำความตกลงกันในลักษณะส่วนตัวระหว่างแรงงานไทยกับนายจ้างชาวอิสราเอล ซึ่งว่าจ้างให้ไปทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะพันธุ์ปลาในฟาร์มเลี้ยงปลาในไนจีเรีย

นายประวิทย์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) ได้กำชับให้ กกจ.มีความเข้มงวดในการทำสัญญาจ้าง รวมทั้งดูแลพื้นที่ที่ทำงานต้องมีความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ กกจ.ได้ทำหนังสือไปถึงกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บริษัทจัดหางานและบริษัทนายจ้างในต่างประเทศ ขอให้ช่วยดูแลและเพิ่มความเข้มงวด รวมทั้งได้ประสานกับบริษัท โอนิดะ จำกัด (มหาชน) (Onidi Development Co.LTD) ให้เร่งช่วยเหลือแรงงานไทย จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประเมินได้ว่าประเทศในแถบแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่ไม่เหมาะกับการเดินทางไปทำงานในช่วงนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไนจีเรียมีแรงงานไทยหมุนเวียนเข้าไปทำงานปีละ 350 คน ส่วนใหญ่ทำงานอุตสาหกรรมน้ำมัน ด้านงานเชื่อม และงานด้านการเกษตร


กำลังโหลดความคิดเห็น