xs
xsm
sm
md
lg

กกจ.หารือพม่าตั้งหน่วยออกเอกสารให้ รง.พม่า กลับมาทำงานในไทยเเบบถูกกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกจ.ขอความร่วมมือพม่าเร่งพิสูจน์สัญชาติ ออกเอกสารรับรองแรงงานพม่าเพื่อให้เป็นแรงงานถูกกฎหมาย ตั้งหน่วยตามด่านตรวจคนเข้าเมืองแนวชายแดนพร้อมส่งเจ้าหน้าที่ช่วยออกเอกสารรับรองแรงงานพม่าที่ทำงานในสถานประกอบการทั่วไป-ประมง เตรียมปรับแก้เอ็มโอยูนำเข้าแรงงานพม่า เข้ามาโดยเครื่องบิน จัดอบรมวัฒนธรรม-การทำงาน-สัญญาจ้างก่อนเข้ามาทำงานในไทย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (22 ต.ค.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เดินทางไปยังประเทศพม่า เพื่อหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการและนำเข้าแรงงานพม่าอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยขณะนี้มีแรงงานพม่ากว่า 2 แสนคน ซึ่งลักลอบเข้ามาทำงานในไทยอย่างผิดกฎหมายและได้รับการผ่อนให้ทำงานในไทยได้ชั่วคราวเป็นเวลา 4 ปี จะครบกำหนดต้องกลับพม่าในเดือน พ.ย.นี้ จึงได้ขอให้พม่ามาตั้งหน่วยตามด่านตรวจคนเข้าเมืองบริเวณแนวชายแดนไทย-พม่า ได้แก่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อ.แม่สอด จ.ตาก กาญจนบุรี ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ เพื่อออกเอกสารรับรองสถานะให้แก่แรงงานพม่ากลุ่มนี้ เพื่อให้กลับเข้ามาทำงานในไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายมีสัญญาจ้างและนายจ้างชัดเจนโดยเฉพาะการดำเนินการในไทยจะเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าตรวจโรค ค่าทำประกันสุขภาพ ค่าใบอนุญาตทำงานรวมแล้วประมาณ 7,000 บาทต่อคน ซึ่งพม่าจะส่งเจ้าหน้าที่มาออกเอกสารตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้

อธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันมีแรงงานพม่าที่จดทะเบียนและรอพิสูจน์สัญชาติค้างอยู่กว่า 1 หมื่นคน ซึ่งได้รับการผ่อนผันและอยู่ในไทยชั่วคราวก็ได้ขอให้พม่าส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการเพื่อเร่งสัญชาติแรงงานพม่าเพื่อจะได้ทำงานอยู่ในไทยได้อย่างถูกกฎหมายเป็นเวลา4ปี รวมทั้งในกลุ่มแรงงานประมงซึ่งให้จดทะเบียนปีละ 2 ครั้ง เป็นเวลาครั้งละ 3 เดือน เพื่อผ่อนผันให้ทำงานและอยู่ในไทยได้ชั่วคราว 1 ปี โดยขอให้พม่าส่งเจ้าหน้าที่มาออกเอกสารรับรองแก่แรงงานพม่า ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการประมงใน 22 จังหวัดเช่น สมุทรสาคร ตราด สตูล ที่จะต้องพาแรงงานพม่าที่ผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียน หากพบว่าจังหวัดใดที่มีผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนแรงงานเป็นจำนวนมากก็จะจัดรถหน่วยเคลื่อนที่ออกไปช่วยออกเอกสาร

นายประวิทย์ กล่าวด้วยว่า ตนยังได้แจ้งแก่พม่าในเรื่องการให้แรงงานพม่าที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่าสามารถเข้ามาทำงานในไทยได้ตามฤดูกาลโดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างการเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ พม่ากังวลว่าแรงงานพม่ากลุ่มนี้จะไม่ได้รับการคุ้มครองและได้รับค่าจ้างไม่ถึงวันละ 300 บาท ตนได้ชี้แจงว่าหากแรงงานพม่ามีเอกสารถูกต้องและใบอนุญาตทำงานชั่วคราว ก็จะได้ค่าจ้างวันละ 300 บาทและได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้วก็ขอให้พม่ามาตั้งหน่วยออกเอกสารตามแนวชายแดนไทย-พม่า ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้หารือกันถึงการนำเข้าแรงงานพม่าผ่านระบบความร่วมมือระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) ซึ่งพม่าแจ้งว่าปัจจุบันในพม่ามีบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนถูกต้อง 67 บริษัท และขอให้ไทยควบคุมค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาทำงานในไทยให้ถูกลงด้วยการให้นายหน้าคนไทยที่จัดหาแรงงานพม่าเข้ามาทำงานในไทยจดทะเบียนเป็นบริษัทจัดหางาน ซึ่งตนก็ได้แจ้งไปว่ากกจ.ได้ดำเนินการเรื่องนี้แล้วและล่าสุดมีนายหน้ามาจดทะเบียนแล้ว 99 บริษัท รวมทั้งได้หารือถึงการแก้ไขเอ็มโอยูในหลายประเด็นเช่น หากนำเข้าแรงงานพม่าผ่านเอ็มโอยูควรมีการตั้งศูนย์เพื่อฝึกอบรมให้แรงงานพม่าทราบถึงขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมไทย สภาพการทำงานและสัญญาจ้างก่อนเข้ามาทำงานในไทย และควรจัดส่งแรงงานมาทางเครื่องบินจะทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลงโดยหากเป็นในส่วนของบริษัทจัดหางานคงไปบังคับให้ใช้วิธีนำเข้าเช่นนี้ไม่ได้ ซึ่งแต่ละประเทศจะนำร่างเอ็มโอยูเสนอรัฐบาลก่อน หากผ่านความเห็นชอบจึงจะลงนามร่วมกันโดยคงต้องใช้เวลาพิจารณาระยะหนึ่งจึงจะได้ข้อสรุปชัดเจนและมาลงนามกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น