หน.ปชป. เผยผู้ว่าฯ กทม.ร่อนจดหมายลาออก 8 ม.ค.นี้ หลังรับทราบข้อกล่าวหาจากดีเอสไอ ยอมรับรักษาแชมป์สมัยที่ 3 หืดขึ้นคอ ตำหนิรัฐลดภาษีเอสเอ็มอีแก้ปัญหาค่าแรง 300 บาทไม่ตรงจุด แนะเร่งกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ อีกด้านไม่เห็นด้วย “อภิชาต” ประธาน กกต. เรียก “ทักษิณ” สไกป์สอนนักศึกษา พตส. กังขาคนทุจริตออกทีวีได้ แต่ละครต้านคอร์รัปชั่นถูกถอดกลางอากาศ
วันนี้ (7 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่า ยังยืนยันเจตนาไม่อยู่รักษาการในตำแหน่ง และจะมีผลในวันที่ 9 ม.ค.นี้ หลังจากที่รับทราบข้อกล่าวหาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ทั้งนี้ ตามกฎหมายจะต้องยื่นหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทยในวันที่ 8 ม.ค. คือก่อนล่วงหน้า 1 วันเพื่อให้มีผลในวันที่ 9 ม.ค. เพราะไม่อย่างนั้นก็จะครบวาระในวันที่ 10 ม.ค. 2556 จากนั้นจะมีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ขึ้นอยู่กับ กกต.จะเป็นผู้กำหนด และทุกฝ่ายจะได้สบายใจว่าทุกฝ่ายแข่งขันบนความเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ยังมั่นใจว่าการแจ้งข้อกล่าวหาของดีเอสไอจะไม่มีผลต่อคุณสมบัติของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในการชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ แต่ยอมรับว่าจะมีผลในทางการเมือง ซึ่งต้องชี้แจงกันต่อไป เพราะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็มีความมั่นใจที่จะชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่าถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมีการตรวจสอบหลายครั้งกับทางกฤษฎีกา อีกทั้งการแจ้งข้อกล่าวหาก็ไม่ใช่เรื่องทุจริต แต่เป็นการอ้างว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งก่อนดำเนินการ ผู้ว่าฯ กทม.เคยตรวจสอบกับกฤษฎีกาแล้วว่า กทม.มีอำนาจถึง 2 ครั้ง
ส่วนกรณีที่ดีเอสไอเสนอให้กระทรวงมหาดไทยเพิกถอนสัญญานั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องดูอำนาจหน้าที่ว่าเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่ดีเอสไอพยายามตีความคืออ้างว่าเป็นเรื่องของสัญญาสัมปทาน โดยในรัฐบาลชุดที่แล้วยังไม่เคยมีพิจารณาเรื่องนี้ และย้ำว่าไม่มีความกังวล เนื่องจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยืนยันชัดเจนว่าดูกฎหมายอย่างรอบคอบชัดเจนแล้ว พร้อมกันนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการของดีเอสไอในการแจ้งข้อกล่าวหาผู้บริหาร กทม.ก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เพียงวันเดียวนั้น เป็นการทำงานของดีเอสไอที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับจังหวะเวลาทางการเมืองอยุ่ตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องแปลกมากถ้าจะเห็นว่าเป็นเรื่องบังเอิญ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประชาชนจำนวนหนึ่งมีความเข้าใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และต้องชี้แจงเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้หากคู่แข่งของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ก็ไม่คิดว่ามีอะไรน่าวิตก แต่ไม่ประมาทใครทั้งนั้น ขอให้แข่งขันบนพื้นฐานความยุติธรรมและสร้างสรรค์นำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับกทม.มาว่ากัน
“ยอมรับว่าชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มีนัยถึงการเมืองระดับชาติด้วย ซึ่งพรรคจะพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาฐานเสียงส่วนนี้ เพื่อขอโอกาสจากประชาชนอีกครั้ง และทราบว่าพรรคเพื่อไทยหมายมั่นปั้นมือมากในงานนี้ เราจึงไม่ประมาท และรู้ดีว่าเป็นเรื่องยากที่จะรักษาตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เป็นสมัยที่ 3 เพราะใน กทม.การรักษาพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องทำงานหนักทุกคน ทั้งนี้ สิ่งที่คิดว่าเป็นจุดขายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ คืองานที่ได้ทำมาประชาชนอาจไม่ทราบ แต่เราสามารถต่อยอดได้ทันที และการที่ผู้ว่าฯ กทม.มีความเป็นอิสระในการปกครองท้องถิ่น แต่ผลักดันประสานงานกับทุกฝ่ายได้ให้เกิดประโยชน์กับคน กทม. โดยพรรคจะใช้นโยบายเป็นหัวใจในการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดกับคน กทม.” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลยังขาดมาตรการรองรับที่ดีพอในการรับมือต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะเป็นมาตรการที่ช่วยผู้ประกอบการในบางระดับเท่านั้น เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลช่วยผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่ใช่รายที่ใช้แรงงานเข้มข้น หรือใช้แรงงานที่อยู่ในระดับจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ จึงไม่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และธุรกิจที่อยู่ห่างไกล รวมถึงธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานมาก อีกทั้งข้อเสนอของภาคเอกชนที่ขอให้รัฐบาลช่วยชดเชยอย่างตรงจุด แต่รัฐบาลก็ยังไม่ดำเนินการ โดยพรรคเห็นว่ารัฐบาลต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะช่วยเหลือเป็นการเฉพาะให้ชัดเจน ไม่ใช่กำหนดเป็นมาตรการทั่วไป ซึ่งต้องช่วยในระยะเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะมีการเลิกจ้าง หรือปิดกิจการ เพราะหากไม่เร่งทำก็จะรื้อฟื้นยากปัญหาจะลุกลามบานปลายออกไป ดังนั้นที่รัฐบาลอ้างว่าจะใช้เวลา 3 เดือนในการพิจารณาผลกระทบนั้นก็อยากให้ทบทวนในเรื่องดังกล่าวเพราะจะไม่เท่าทันต่อการคลี่คลายสถานการณ์ เนื่องจากปัญหาที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นการเลิกจ้างที่จะกระทบต่อชีวิตของประชาชนโดยตรง ขณะเดียวกันการเลี่ยงสามร้อยบาทจะมีมากขึ้นถ้าไม่มีมาตรการช่วยให้เอกชนได้ปรับตัวอย่างตรงไปตรงมา เช่น อาจมีการเปลี่ยนสัญญาที่จะเป็นปัญหาในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ยืนยันด้วยว่าตนเป็นคนเริ่มต้นเรียกร้องว่าค่าแรงต้องเพิ่มขึ้น แต่คิดว่าสิ่งที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายออกมาขาดความรอบคอบ และไม่ดูที่มาที่ไปของโครงสร้างค่าจ้างตามสภาพความเป็นจริง แต่เมื่อถึงขั้นนี้ก็ต้องเดินหน้าโดยให้เอกชนปรับตัวได้ จึงจะเป็นสิ่งที่ทำให้เดินไปข้างหน้าได้ดีที่สุดและขัดแย้งน้อย อีกทั้งยังต้องมีการทบทวนอีกหลายเรื่องว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งธุรกิจและคนงานอยู่ได้ เพราะทั้งสองส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน หากธุรกิจอยู่ไม่ได้ก็ไม่มีการจ้างงานซึ่งจะกระทบกับคนที่ทำงานอยู่ดี ซึ่งในบางจังหวัดเริ่มมีการตกงงานแล้ว จึงเห็นว่านโยบายนี้เป็นตัวอย่างที่พรรคชี้มาตั้งแต่ต้นว่าจะมีปัญหา และแม้ว่าพรรคจะสนับสนุนเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่การทำให้หวือหวาโดยไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น สุดท้ายจะย้อนกลับมาเป็นปัญหากับทุกคนและประเทศชาติ แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นเป้าหมายที่ดีกว่าโครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งตนมองไม่เห็นเหตุผลรองรับในเชิงสาธารณะ ทั้งนี้ ผลกระทบจะขยายวงกว้างแค่ไหนนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วแค่ไหนที่จะช่วยเอกชนที่ปรับตัวไม่ได้
ส่วนที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง เตรียมชง ครม.ลดภาษีเอสเอ็มอีจาก 3% เหลือ 2% ซึ่งจะทำให้รายได้รัฐหายไป 6.4 หมื่นล้านบาทต่อปีนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เท่าที่ดูฝ่ายผู้ประกอบการก็บอกว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และถ้าทำก็จะเป็นปัญหาทั้งสองด้านคือ สภาพคล่องรายได้และไม่ได้แก้ปัญหาด้วย เพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด จึงอยากให้รัฐบาลกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือ เพราะไม่ใช่ว่าทุกอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ หรือต้องช่วยเหลือเหมือนกันในทุกพื้นที่รัฐบาลจึงต้องทำงานละเอียดเพื่อลดภาระในการเข้าไปช่วยเหลือและช่วยได้อย่างตรงจุด แต่ถ้ารัฐบาลยังดึงดันที่จะเดินหน้าต่อ โดยไม่กำหนดมาตรการรองรับสุดท้าย ก็จะเกิดปัญหาไม่ต่างจากกรณีการรับจำนำข้าว ซึ่งเคยยืนยันว่าส่งออกปีที่แล้วจะตีตื้นได้แต่ก็ทำไม่ได้ ทุกอย่างเป็นไปตามที่มีการท้วงติงไว้ ดังนั้นจึงไม่อยากให้รัฐบาลคิดแต่ประเด็นทางการเมือง แต่อยากให้ฟังเสียงทักท้วงว่าติงบนพื้นฐานของเหตุผลอย่างไร
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังแสดงความไม่เห็นด้วยที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.จะเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีสถานะเป็นนักโทษหนีคดีเป็นวิทยากรสไกป์ให้ความรู้ทางการเมืองกับนักเรียยนหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง หรือ พตส. รุ่นที่ 4 โดยกล่าวว่าไม่เข้าใจแนวคิดและไม่ทราบรายละเอียด เพราะมีการอธิบายอ้างว่าเป็นเรื่องของนักศึกษาเป็นผู้กำหนดตัววิทยากร แต่อยากให้ทบทวนเรื่องนี้ เพราะ กกต.ต้องรู้สถานะของตัวเองและคนที่จะเข้ามาพูดด้วย แต่ในยุคนี้ก็พูดยากเพราะคนคอร์รัปชันออกทีวีได้ แต่คนทำละครต้านคอร์รัปชันออกทีวีไม่ได้ ตนก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร จึงคิดว่าทุกคนต้องตระหนักว่า บ้านเมืองมีการทุจริตคอร์รัปชันมาก มีการทำผิดกฎหมายกันมาก แต่เราไม่ยืนหยัดความคิดว่าต้องปฏิบัติอย่างไรต่อผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ลำบากและเชื่อว่าจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ กกต.ด้วย จึงอยากให้ระมัดระวัง เพราะบางฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียก็พยายามสร้างความเคยชินให้เกิดการยอมรับเรื่องที่ไม่ถูกต้องมาเป็นยุทธศาสตร์ในการเดินเกมทางการเมืองอยู่แล้ว แต่คนอื่นต้องไม่ไปเป็นเครื่องมือของคนเหล่านี้
“ประธาน กกต.ต้องแสดงจุดยืนของตัวเองให้ชัดเจน และทุกคนต้องยืนยันหลักการด้วยว่าหากจะมีองค์กรอิสระต้องอิสระจริงเพราะถ้าไม่อิสระก็เหมือนไม่มี แต่ตอนนี้ยังเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรอิสสระตามรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่ โดยองค์กรเหล่านี้ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ด้วย ส่วนกรณีที่จะยุบศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญไปเป็นแผนกหนึ่งของศาลยุติธรรมนั้น ผมยังไม่ทราบรายละเอียด แต่คิดว่าศาลปกครองเดินหน้ามาไกลแล้วในการพัฒนาระบบ และต้องยอมรับว่ากระบวนวิธีพิจารณามีความแตกต่างจากกระบวนการของศาลยุติธรรมตามปกติ จึงต้องบอกเหตุผลว่ามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญให้กลับไปอยู่จุดเดิม” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังมั่นใจด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผูกติดอยู่กับผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เชื่อว่าจะไม่สามารถลบล้างคดีที่มีการพิพากษาไปแล้วได้ จึงอยากให้รัฐบาลตั้งหลักแก้ปัญหาให้กับประเทศพักเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ส่วนที่นายกรัฐมนตรียืนยันว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและ รมว.มหาดไทยอ้างว่ารัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศนั้น ตนเห็นว่าหากรัฐบาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศให้ชี้ให้ชัดเจนว่ามาตราใดที่เป็นปัญหา เพราะหากไม่ชี้ออกมาก็คงไม่มีใครเข้าใจได้ พร้อมยกตัวอย่างการแก้ไขมาตรา 190 ในรัฐบาลของตนว่าเมื่อมีการขี้แจงที่ชัดเจนสังคมก็ยอมรับได้ บ้านเมืองไม่เกิดความขัดแย้ง แต่ถ้าไม่สามารถระบุได้ทำเพียงแค่พูดกำกวมหรือคลุมๆ แต่มีเป้าหมายอย่างอื่นก็จะเกิดความขัดแย้งแน่นอน ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของประชาชนจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อยากให้แก้ปากท้องก่อนจึงอยากให้รัฐบาลรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย
“รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นอุสรรคต่อการบริหารประเทศแต่เป็นอุปสรรคต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะถ้า รัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคของประเทศจริงก็ต้องช่วยกันแก้ไข แต่ต้องชี้ออกมาให้ชัดเจน และก่อนที่จะแก้รัฐธรรมนญและอยากแก้ปัญหาของแพงเบื้องต้นต้องไปดูก่อนว่าทำอย่างไรไม่ขึ้นค่าแก๊ส ผลกระทบค่าไฟฟ้าเป็นอย่างไร ผลกระทบค่าแรงจะมีคนตกงาน ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างไรจึงจะตรงจุดมากกว่าแก้รัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน” นายอภิสิทธิ์กล่าว