xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติรัตน์-เผดิมชัย” จ้อแทน “ปู” แจงค่าแรง 300 เพิ่มกำลังซื้อ ปรับสมดุล ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง (แฟ้มภาพ)
“นายกฯ ปู” งดจ้อรายการรัฐบาลประชาชน ส่ง “กิตติรัตน์-เผดิมชัย” แจงค่าแรง 300 บาท ยันจะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีความเป็นอยู่ดีขึ้น “กิตติรัตน์” อ้างเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ ลดพึ่งพาส่งออก หวังปรับสมดุลเศรษฐกิจ แนะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก แต่คุณภาพต่ำต้องปรับตัว หันมาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เมินชดเชยค่าแรงตามที่เอกชนเสนอ มั่นใจเศรษฐกิจปี 56 โตต่อเนื่อง


รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน เช้าวันนี้ (5 ม.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี งดจัดรายการ โดยมอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง และนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้แจงการปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ดำเนินรายการโดยนายธีรัตน์ รัตนเสวี

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวว่า เป้าหมายของรัฐบาลพยายามปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ จากในอดีตประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป ในขณะที่วงล้อทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ยังทำงานไม่มีประสิทธิภาพทั้งในด้านกำลังซื้อภายในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน ดังนั้น รัฐบาลพยายามปรับกำลังซื้อภายในประเทศให้สูงขึ้น ด้วยการให้ผู้ใช้แรงงานทั้งกลุ่มที่มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลาง มีกำลังซื้อที่สูงขึ้น ควบคู่วางแผนการใช้จ่ายภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการเตรียมตัวให้พร้อมจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที ไม่ต้องไปกระจุยตัวเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้ายเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนการลงทุนภาคเอกชน หากอัตราดอกเบี้ยมีเสถียรภาพ อััตราแลกเปลี่ยนมีความเหมาะสม รวมถึงกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ใช้แรงงานจะเป็นตลาดสำคัญของภาคธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุน ทั้งการลงทุนใหม่และการขยายกิจการ

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต้น 300 บาท ถือเป็นส่วนสำคัญด้านหนึ่ง แม้การปรับเพิ่มดังกล่าว ภาคเอกชนจะกังวลเรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทว่า ต้นทุนที่ควรจะเพิ่มมากที่สุด คือ ค่าแรงของคนงาน เพราะหากคนงานมีกำลังซื้อมากยิ่งขึ้นจะมีกำลังกลับมาซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ อีกครั้ง ในที่สุดผลประโยชน์จะกลับมาสู่ภาคธุรกิจ

นายกิตติรัตน์ระบุว่า ปี 2556 จะเป็นปีแห่งการปรับสมดุลกำลังซื้อภายในประเทศจะเกิดขึ้นอีกรอบหนึ่ง เพราะการปรับค่าแรงขั้นต่ำเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงการปรับประสิทธิภาพในการลงทุนภาครัฐ งบปี 2557 ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2556 ขณะนี้ ท่านนายกฯ ให้ทำงานอย่างเข้มข้น ให้เตรียมความพร้อม เมื่อเข้าสภาแล้วสามารถเบิกจ่ายได้ทันที ดังนั้นจึงมั่นใจว่าเศรษฐกิจปี 56 จะดีเท่าๆ กับปี 55 หรือดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะการปรับสมดุลจะเห็นชัดเจนมากขึ้น

นายกิตติรัตน์กล่าวต่อว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่อาจมีความเสี่ยง คือ ในกลุ่มที่ใช้แรงงานจำนวนมาก แต่ผลิตสินค้าที่มูลค่าต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อดีตประเทศไทยเคยรับช่วงผลิตต่อจากต่างประเทศ ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมไทยจะต้องส่งต่อไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า และหันมาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น

“รัฐบาลมั่นใจว่าภาคเอกชนสามารถปรับตัวรองการปรับค่าแรงได้แล้ว เพราะรัฐบาลได้ประกาศนโยบายล่วงหน้านับปี ในขณะที่ บางโรงงานที่ยังไม่สามารถปรับตัว ทางรัฐบาลได้ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือ 11 ข้อออกไป รวมถึงกำลังหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อเตรียมมาตรการเสริมใหม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเร็วๆ นี้”

นายกิตติรัตน์ยืนยันว่า มาตรการที่ภาคเอกชนเสนอยากให้ภาครัฐจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าแรงค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น คงไม่สามารถทำให้ได้ รัฐบาลจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะระดับเอสเอ็มอี ในด้านลดผลกระทบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ และเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ

ส่วนการปิดกิจการของโรงงานที่เป็นข่าวขณะนี้ ในความเป็นจริงแล้ว การทำธุรกิจทั่วไป ต้องมีทั้งกำไรขาดทุน ปิดกิจการและขยายกิจการเป็นปกติอยู่แล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คงไม่ใช่เหตุหลักจนทำให้ภาคธุรกิจต้องหยุดกิจการ

นายเผดิมชัยกล่าวว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ซึ่งทำให้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีการพัฒนาแรงงานดี สินค้าดี กำลังซื้อก็ย่อมดีขึ้นตามด้วย และสิ่งที่ดีคือ แรงงานไม่ต้องเดินทาง หรือมุ่งไปยังพื้นที่ที่มีค่าแรงงานที่สูง เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายเพิ่มค่าแรงทั่วประเทศ ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้แรงงานทำงานในพื้นที่ ได้อยู่กับครอบครัว

“รัฐบาลจึงเห็นความสำคัญในการเพิ่มค่าแรง 300 บาท เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องทิ้งบ้านเกิด หรือครอบครัวเพื่อไปใช้แรงงานในยังพื้นที่อื่น”

นายเผดิมชัยกล่าวว่า เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะรู้ถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงแรงงานได้จับตาดูตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบว่า ภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ซึ่งภาครัฐเตรียมจะมาแนวทางเยียวยาช่วยเหลืออยู่แล้ว ควบคู่กับทางตัวผู้ประกอบการเองต้องเร่งปรับตัว เพิ่มผลิตภาพ และมูลค่าสินค้าหรือบริการ

ด้านนายอาคมระบุว่า ภาครวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ (2556) จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ปีผ่านมา (2555) ชะลอจากผลกระทบอุทกภัยใหญ่ รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่จากแนวโน้มการส่งออกเมื่อปลายปีที่แล้ว รวมถึง การเร่งลงทุนภายในประเทศ เชื่อว่าอัตราการเติบโตของไทยปีนี้อยู่ที่ 5.5% และการส่งออกขยายตัว 9%



กำลังโหลดความคิดเห็น