“สรรเสริญ” จี้รัฐรับประกันไร้แรงงานตกงานหลังขึ้นค่าแรง 300 แนะชดเชยสู่เอสเอ็มอี สับยังแก้ไม่ถูกทาง งงไม่ศึกษามาตรการรองรับก่อนใช้จริง ยันหนุนขึ้นเงินแต่ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป จวก “กิตติรัตน์” บอกไม่มีเงินช่วย 3 ปีตามข้อเรียกร้องเอกชนทำไมถึงทำจำนำข้าวต่อ ฉะนโยบายลดภาษีช่วยน้อยทำไม่ตรงจุด ห่วงนโยบายที่ไม่แจงตัวเลขสุดอันตราย
วันนี้ (7 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลปรับค่าแรง 300 บาทว่า รัฐบาลจะต้องรับประกันว่าไม่มีแรงงานตกงานจากนโยบายดังกล่าว และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับภาคธุริจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะนโยบายค่าแรง 300 บาทเป็นการนำเงินภาคธุรกิจไปสร้างคะแนนเสียงให้รัฐบาล จึงต้องมีการชดเชยที่เหมาะสมให้กลับคืนไปยังภาคธุรกิจด้วย ทั้งนี้ เห็นว่า 11 มาตรการแรกที่ออกไปก่อนหน้านี้เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะเป็นเพียงนำมาตรการที่มีอยู่แล้วมายำรวมกันและอ้างว่าเป็นมาตรการในการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท ส่วนอีก 5 มาตรการที่จะเข้า ครม.พรุ่งนี้เป็นมาตรการแก้ปัญหาไม่ถูกทาง โดยรัฐบาลบอกว่าจะขอดูผลกระทบ 3 เดือนค่อยคิดว่าจะช่วยอย่างไร คิดว่าหากทำเช่นนั้นก็สายเกินไป คือ มีการเลิกกิจการแล้ว มีการตกงานเกิดขึ้นแล้ว มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว จึงสายเกินไปทำให้เกิดคำถามตามมาว่า นโยบายใหญ่ขนาดนี้ทำไมจึงไม่มีการศึกษามาตรการรองรับให้เท่าทันเหตุการณ์ แต่กลับทำเหมือนเด็กเล่นคือ ลองผิดลองถูก เมื่อดูผลมีความเสียหายค่อยออกมาตรการชดเชย ทั้งที่มีธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบถึง 3 ล้านรายและกระทบการจ้างงานถึง 10 ล้านคน จึงต้องมีมาตรการรองรับก่อนออกนโยบาย ทั้งนี้พรรคเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงแต่ต้องค่อยเป็นค่อยไปให้เอกชนมีเวลาปรับตัว ไม่ใช่ขึ้่นพรวดเดียวเป็นสามร้อยบาท แต่เมื่อมีการดำเนินการแล้วรัฐบาลก็ต้องชดเชยในช่วงที่ภาคเอกชนปรับตัวด้วย
ส่วนกรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ระบุให้เวลาภาคเอกชนเตรียมตัวมา 1 ปีแล้วนั้น นายสรรเสริญกล่าวว่า ในบางจังหวัดค่าแรงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเช่น พะเยาจาก 159 เป็น 300 บาท ศรีสะเกษ 160 เป็น 300 บาท จึงปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น นายกิตติรัตน์ ต้องเป็นนักธุรกิจเองจะได้รู้ว่าค่าแรงที่ปรับแบบก้าวกระโดดเช่นนี้จะเอาอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ จาก 77 จังหวัด มีเพียง 7 จังหวัดเท่านั้นที่ค่าแรงอยู่ที่กว่า 200 บาท นอกจากนั้นต่ำกว่า 200 บาททั้งสิ้น ดังนั้นจึงควรจะชดเชยตามข้อเรียกร้องของเอกชน 3 ปีแบบขั้นบันได แต่รัฐบาลก็ไม่ตอบรับในประเด็นนี้ จึงนำมาสู่คำถามที่พรรคอยากให้รัฐบาลตอบว่า ทำไมจึงไม่ดำเนินการเรื่องนี้การอ้างว่าใช้เงินเปลืองกลัวว่าไม่มีเงินนั้น ทำไมจึงเอาเงินไปทำโครงการจำนำข้าวที่มีการทุจริตเป็นแสนล้านบาทต่อปีรัฐบาลยังเดินหน้า แต่การชดเชยค่าแรงซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการและผู้ใช้เแรงงาน รวมถึงประชาชนทั่วไป ทำไมรัฐบาลกลับถอยหลังไม่เดินหน้าช่วยเหลือ ถ้าอ้างว่าไม่มีเงินพรรคขอเสนอว่าให้ยกเลิกโครงการจำนำข้าวเป็นประกันรายได้ ถ้าอยากให้เกษตรกรได้ตันละ 15,000 บาทให้ประกันรายได้ในตัวเลขที่สูงขึ้นเพื่อนำเงินที่ตกหล่นจากการทุจริตมาชดเชยค่าแรงสามร้อยบาท เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการปิดกิจการ การตกงาน หรือสินค้าแพงขึ้น
นายสรรเสริญกล่าวด้วยว่า นโยบายที่จะลดภาษีให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีจาก 3% เหลือ 2% ซึ่งจะทำให้รัฐขาดรายได้ 6.4 หมื่นล้านต่อปีนั้น หากนำมาทอนเป็นตัวเงินให้กับภาคธุรกิจถือว่าน้อยมากจากมาตรการดังกล่าวเหมือนกับการนำค่าแรงมาหักภาษี จึงเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือไม่ตรงจุดเช่นเดียวกับการลดภาษีนิติบุคคล เพราะเป็นการหว่านแหช่วยทุกธุรกิจ ไม่ได้ดูเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลจึงควรทบทวนแนวทางใหม่ด้วยการชดเชยให้ตรงจุดกับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจริงจะเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมหลายนโยบายของรัฐบาลไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ เช่น โครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งเดิมรัฐบาลคาดว่าจะเสียรายได้จากภาษีประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่กลับกลายเป็นว่ายอดทะลุเกือบแสนล้านแล้ว และที่อันตรายที่สุด คือ นโยบายที่ยังไม่ได้แจกแจงตัวเลข คือใช้วิธีให้องค์กรอื่น เช่น ธนาคารรัฐควักเงินไปก่อน หมกเม็ดตัวเลขความเสียหาย เป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด เพราะถ้าบานปลายจะเห็นชัดในปีหลังๆ เช่น จำนำข้าวเสียหายปีละ 1-1.5 แสนล้าน เป็นตัวถ่วงในเรื่องงบประมาณและเพิ่มหนี้สาธารณะโดยไม่จำเป็นออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะไม่มีงบลงทุนเพราะต้องเจียดเงินไปใช้ดอกเบี้ย หากรัฐบาลชุดนี้บริหารครบ 4 ปีมีความเป็นไปได้ว่าหนี้สาธารณะทะลุ 60% ของจีดีพี และถ้ามีการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทตาม พ.ร.ก.เงินกู้ภายในเดือนมิถุนายน 2556 โดยไม่มีโครงการรองรับก็จะทำให้รัฐต้องเสียดอกเบี้ยจากการกู้เงินมากองไว้ปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท