xs
xsm
sm
md
lg

โรงงานลำพูนตัดโอที-ลดวันทำงาน รอปิดกิจการรับค่าแรง 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - โรงงานอุตสาหกรรมทั้งใน-นอกนิคมฯ ลำพูน แหล่งจ้างงานใหญ่ของภาคเหนือตอนบน งัดมาตรการตัดโอที-ลดวันจ้างงาน รอวันปิดกิจการ-ย้ายฐานการผลิตรับค่าแรง 300 บาท-ตลาดทรุด ชี้ 27 มาตรการรัฐแค่ “ตบตา”

นายณรงค์ ธรรมจารี เลขาธิการหอการค้าจังหวัดลำพูน ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) ตั้งอยู่ในพื้นที่ ถือเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนบน เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบายค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เปรียบเหมือนเอาปืนมาจ่อหัวนายจ้างให้ควักเงินจ่ายค่าแรงเพิ่ม ขณะที่ตลาดเท่าเดิม หรือลดลง ซึ่งในพื้นที่ จ.ลำพูนนายจ้างต้องควักเพิ่ม 38%

นายณรงค์บอกต่อว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการทั้งใน-นอกนิคมฯ ต้องยอมจ่ายค่าแรงเพิ่มไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทย หรือต่างด้าวที่ถือพาสปอร์ตตามที่กำหนด พร้อมๆ กับหาทางออกอื่น ซึ่งที่ปรากฏให้เห็นก็คือตัดโอที 100% บางรายก็ใช้วิธีลดวันทำงานจาก 1 สัปดาห์จ้างเพียง 4 วัน ให้หยุด 3 วัน

โดยบางส่วนที่นอกจากจะได้รับผลกระทบเรื่องค่าแรงเพิ่มขึ้น ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ตลาดส่งออกที่ลดลง ก็รอเวลาที่จะปิดกิจการ หรือย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นที่ต้นทุนค่าแรงถูกกว่า เพราะขณะนี้ค่าจ้างแรงงานต่อวันของไทยอยู่ที่ 9.6 เหรียญสหรัฐ ลาว 3 เหรียญสหรัฐ เวียดนาม 3.5 เหรียญสหรัฐ เขมร 2 เหรียญสหรัฐเท่านั้น

“ไม่จ่ายก็ไม่ได้” นายณรงค์กล่าว และบอกต่อว่า นอกจากนี้ตลาดแรงงานลำพูนยังมีปัญหาขาดแคลนคนอยู่ เพราะวันนี้คนลำพูนเดินเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเรียนต่อระดับปริญญาตรีสูงถึง 99% เหลือแรงงานไร้ฝีมือเดินเข้าโรงงานเพียงปีละ 1,000 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งทำให้นายจ้างต้องใช้แรงงานต่างด้าวกันเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องจ่ายค่าแรงตามกฎหมายคือ 300 บาทต่อวันเหมือนกัน และเมื่อลดวันทำงานก็ทำให้คนงานเหล่านี้ไปทำงานนอกโรงงาน เมื่อถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็กลายเป็นปัญหาให้นายจ้างต้นสังกัดอีก รวมถึงภาระจ่ายเงินประกันสังคมที่นายจ้างต้องรับผิดชอบเต็มอีกด้วย

“เย็นวันนี้เราจะนัดหารือกันถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง และทางหอการค้าฯ จะเสนอให้จังหวัดฯ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามประเมินผลการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันด้วย เพราะ 27 มาตรการที่รัฐบาลมีออกมาเป็นเพียงมาตรการตบตานายจ้างเท่านั้น”

เช่นเดียวกับ จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา ที่ต้องปรับค่าจ้างเพิ่มไม่น้อยกว่า 40% ที่ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ก่อนหน้านี้ นายปรีชา นิลอุดมศักดิ์ ผู้จัดการห้างกาดคำพลาซ่า อ.เมืองแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ห้างกาดคำฯ มีพนักงานที่ต้องเข้าสู่ระบบประมาณ 30 กว่าคน ก็ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้นในขณะที่การขายสินค้าก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งนโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศที่มีออกมานั้นใช้เกณฑ์ของจังหวัดใหญ่ที่มีรายได้สูงเป็นตัววัด แต่แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทยก็ต้องเจอปัญหาด้วย

“ก๋วยเตี๋ยวที่แม่ฮ่องสอนอยู่ที่ 25-30 บาท แต่ที่กรุงเทพฯ ขายกัน 60 บาท เพราะฉะนั้นเราต้องขาย 3 ชามจึงจะมีรายได้เท่ากรุงเทพฯ 1 ชามเท่านั้น แต่ต้องใช้และจ่ายค่าแรงลูกจ้างเท่าๆ กัน ถ้าเป็นอย่างนี้ผู้ประกอบการในแม่ฮ่องสอนก็อยู่ไม่ได้”

ขณะที่ผู้ประกอบการใน จ.พะเยาต่างตั้งคำถามทำนองเดียวกันว่า การที่รัฐบาลบังคับนายจ้างให้จ่ายค่าแรง 300 บาท/วัน ซึ่งนายจ้างพะเยาต้องควักเงินค่าแรงเพิ่มเดือนละ 40% จะมีแรงงานที่ไหนที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานคืนให้นายจ้างได้ถึง 40% ตามค่าแรงที่ปรับขึ้นได้บ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น